ม.หอค้าเผยผลสำรวจความสามารถแข่งขันเอสเอ็มอี ธุรกิจค้าส่งลำบากเจอออนไลน์ตีตลาด

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเอสไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 48.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส4/2560 ที่อยู่ 47.9 เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่อยู่ในลักษณะกระจุกตัวและตัวเลขยังต่ำกว่าระดับกลางที่ระดับ 50 ค่อนข้างมาก โดยดัชนีภาคบริการถือว่าดีที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือภาคการค้า ซึ่งพบว่าธุรกิจค้าส่งเป็นธุรกิจที่กำลังมีปัญหาเนื่องจากเป็นยุคของค้าปลีกที่เข้าถึงออนไลน์ ขณะที่ธุรกิจการบริการ ทั้งธุรกิจโรงแรม เกสเฮ้าส์ ขนส่ง โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว สันทนาการ ร้านอาหาร และภัตตาคาร ขยายตัวดี

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีที่ยังความสามารถทำธุรกิจได้ เพราะมีการปรับตัว เพิ่มคุณภาพสินค้า เข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ พบว่า ภาคผลิตชิ้นพาสติกและยาง มาเป็นอันดับแรก รองลงมา คือชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจสิ่งทอและแฟชั่น ส่วนธุรกิจอาจมีปัญหาในอนาคต คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยสรุปดัชนีสถานการณ์ธุรกิจอยู่ที่ 42.8 ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจอยู่ที่ 50.3 ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจอยู่ที่ 51.5 โดยคาดว่าภาพรวมสถานการณ์แข่งขันธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาส2/2561 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 49.2

“กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจค้าส่ง (ยี่ป๊ัว-ซาปั๊ว) ที่ศักยภาพการแข่งขันมีแนวโน้มลดลงอย่างมากสวนทางกับธุรกิจหลายประเภท และหลายรายมีแนวโน้มเลิกกิจการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของธุรกิจออนไลน์ ปัจจุบันพบว่า ร้านค้าปลีกรายย่อยและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ต่างหันมาทำกลยุทธ์ในการทำการตลาดออนไลน์ จำหน่ายโดยตรงถึงผู้บริโภคโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ธุรกิจค้าส่งแบบดั้งเดิมถ้าปรับตัวจะแข่งขันได้ลำบากขึ้น ” นางเสาวณีย์ กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัว แต่ฟื้นตัวยังไม่กระจายมากนัก เห็นได้จากธุรกิจในซัพพลายเชนของการส่งออกและการท่องเที่ยว เริ่มฟื้นตัวตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมหลัก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ดีขึ้น คาดไตรมาส 2 จะดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นทั้งระบบ และค้าส่งคงต้องเหนื่อยต่อไป

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนเอสเอ็มอีในไทยมี 4 ล้านราย โดยรับรวมถึงกลุ่มอาชีพเสริม เช่น ขายอาหารรอบดึกตามย่านการค้า และการขายของตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งขายดีมาก และเป็นกลุ่มที่ธนาคารจะส่งเสริมสินเชื่อต่างๆ