ธพว.อัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจูงใจเอสเอ็มอีจดทะเบียนนิติบุคคล

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือเอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารวางแนวทางสนับสนุนยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านการเกษตร โดยจะนำต้นแบบจากที่เคยสนับสนุนบริษัท ต้นน้ำ โฮลดิ้ง จำกัด ธุรกิจคลัสเตอร์สินค้าสมุนไพร แบรนด์ Tonnam จ.เชียงราย จนประสบความสำเร็จมาแล้ว นำไปประยุกต์ใช้สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรรายอื่นๆ ทั่วประเทศ วิธีการจะให้ บริษิท ต้นน้ำ ทำหน้าที่พี่เลี้ยงธุรกิจแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มเกษตรกรรายอื่นๆ ทาง ธพว. ส่งทีมพัฒนาลงพื้นที่ให้ความรู้ และเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เข้าสู่ระบบจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะทำให้เข้าถึงแหล่งทุนของภาครัฐได้

นางมงคล กล่าวต่อว่า ธพว.มีสินเชื่ออดอกเบี้ยถูกไว้รองรับ เช่น สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาววงเงิน 50,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก เพื่อกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนและต่อเนื่อง หรือบริการอื่นๆ ในชุมชน และสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 วงเงิน 8,000 ล้านบาท จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับผู้กู้ที่ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 1% คงที่ตลอดระยะเวลา 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม สำหรับใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และใช้เป็นเงินหมุนเวียน โดยไม่ต้องใช้ บสย. ค้ำประกัน

นางสาวโสรัฐฎา วรกิตติโชติกรณ์ ผู้บริหาร บริษัท ต้นน้ำ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจก่อตั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เริ่มจากร้านขายสินค้าสมุนไพรเล็กๆ เปิดในโรงเรียนบ้านสันกอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย เจตนาเพื่อจะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ในช่วงแรกตลาดยังไม่กว้างนัก เพราะอาศัยขายแค่หน้าร้าน ในปีต่อมา จึงริเริ่มขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ อาลีบาบา ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและต้องการของคู่ค้าต่างชาติมากยิ่งขึ้น และจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อจากโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมผ่าน ธพว. จำนวน 1 ล้านบาท ช่วยให้มีเงินทุนพัฒนาธุรกิจ โดยนำไปซื้อจักรเย็บผ้า เพื่อทำกระเป๋าแฮนด์เมด ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างยิ่ง กับพัฒนาระบบแพลตฟอร์ม E-Marketing ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางรวบรวมสินค้าเกษตรจากทั่วประเทศ ขายผ่านออนไลน์ไปยังคู่ค้าทั่วโลกผ่านเว็บไซต์อาลีบาบา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเกษตรกว่า 7,000 ราย ที่ได้รับประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าว