เรื่องเล่า…เจ้าสัว “หวั่งหลี” การค้าจีน-ไทย 150 ปีก่อน

ในบรรดามหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งในเมืองไทยเรานั้น ไม่ว่าจะมองไปที่ตระกูลไหนก็ล้วนเป็นตระกูลคนจีนที่บรรพบุรุษล่องเรือมาแสวงโชคในดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

ตระกูล “หวั่งหลี” เป็นหนึ่งในนั้น เรื่องราวการล่องนาวาการค้าของตระกูลหวั่งหลี มีบันทึกในหนังสือ “ดุจนาวากลางมหาสมุทร” เขียนโดย คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ซึ่งเป็นคนในเจเนอเรชั่นที่ 4 ของตระกูล โดยมีญาติพี่น้องร่วมค้นคว้าข้อมูล ช่วยกันถ่ายทอดคำบอกเล่า รวมถึงเดินทางย้อนกลับไปหาข้อมูลถึงต้นทาง หมู่บ้านโจ่ยโค่ย บ้านเกิดเมืองนอนของ “หวั่งหลี” ในเมืองจีน หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์แล้ว 9 ครั้ง ซึ่งจัดงานเปิดตัวฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ดุจนาวากลางมหาสมุทร เล่าให้เห็นตั้งแต่เรื่องราวของบรรพบุรุษในแผ่นดินเกิด ก่อนจะล่องเรือผ่านทะเลจีนใต้มาสยาม และทำการค้าพาณิชย์จนรุ่งเรืองมั่งคั่ง

ข้อมูลจากหนังสือบอกว่า บรรพบุรุษของตระกูลหวั่งหลีที่มาตั้งรกรากในเมืองไทยเป็นคนแรกคือ นายตันฉื่อฮ้วง ที่ออกเรือเดินทางมาค้าขาย และมาถึงเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2414 หรือช่วงต้นรัชกาลที่ 5 จอดเทียบท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ย่านคลองสาน (ที่ตั้งบ้านหวั่งหลี และ ล้ง 1919 ในปัจจุบัน) ตันฉื่อฮ้วง ไม่ได้หนีความยากจนมาแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” อย่างที่เราเคยได้ยินในเรื่องเล่าของชาวจีนส่วนมาก แต่บิดาของเขาทำการค้าข้าวมีฐานะร่ำรวยในระดับหนึ่งแล้ว เขาเดินทางมาสยาม เพราะเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์ เป็นโอกาสที่จะทำการค้าให้ร่ำรวยมั่งคั่งขึ้นไป

“ในช่วงนั้นกิจการห้างเคียงไท่ล้งในฮ่องกงมั่นคงพอสมควรแล้ว นายฉื่อฮ้วงจึงเข้ามาเปิดห้างขยายธุรกิจในประเทศไทย ชื่อห้างตั้งฮ้วงหลี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูลหวั่งหลี แต่อันที่จริงแล้วการเดินทางครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกที่นายฉื่อฮ้วงเข้ามากรุงเทพฯ เขาเคยเดินทางมาค้าขายกับบิดาตั้งแต่ พ.ศ. 2401 (ค.ศ.1863)”

ตันฉื่อฮ้วง มีภรรยาอยู่ที่เมืองจีนแล้วหนึ่งคน แต่เมื่อมาทำการค้าที่เมืองไทยหลายปีก็มีภรรยาชาวไทยอีกคน

ชื่อว่า “หนู” เป็นผู้หญิงในบ้าน “โปษ์กี่” ต้นตระกูลโปษยานนท์ มีลูกด้วยกัน 4 คน เป็นชาย 2 หญิง 2

นายตันลิบบ๊วย ลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาไทย ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกของตระกูลหวั่งหลี ถูกส่งไปอยู่ที่หมู่บ้านโจ่ยโค่ยให้ภรรยาชาวจีนอบรมเลี้ยงดู ตามธรรมเนียมชาวจีน เมื่อบิดาเกษียณกลับไปอยู่เมืองจีน ตันลิบบ๊วยจึงกลับมาสานต่อกิจการ

กิจการการค้าข้าวของนายลิบบ๊วยเติบโตก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โรงสีข้าวที่เคยมี 2 โรงในรุ่นนายฉื่อฮ้วง เพิ่มจำนวนเป็น 5 โรงในสมัยนายลิบบ๊วยเรื่องกิจการโรงสีข้าว ผู้เขียนได้แปลส่วนหนึ่งจากงานเขียนของ Suehiro Akira ซึ่งฉายภาพรวมธุรกิจค้าข้าวในยุคนั้นไว้ว่า

ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ชาวยุโรปได้ถอนการลงทุนในอุตสาหกรรมโรงสีข้าว (ในไทย) ออกไปจนหมด อีกด้านหนึ่ง คือกลุ่มคนจีนเฉพาะบางกลุ่มก็ได้ขยายกิจการในด้านนี้อย่างมากมาย ในช่วงวิกฤตการณ์ข้าวจาก พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1

และกว่าจะถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ.1932) ก็มีเพียงสามกลุ่ม หรือสามครอบครัว ที่ครอบคลุมประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตข้าวของโรงสีทั้งหมดในกรุงเทพฯ สามกลุ่มนี้ คือ กลุ่มหวั่งหลี ภายใต้การนำของนายตันลิบบ๊วย กลุ่มลิ้มเฮงจั่น นำโดยนายโล้วเต็กชวน ต้นตระกูลบุญสุข

และกลุ่มจิ้นเส็ง นำโดยนายม้าเลียบคุน ผู้เป็นต้นตระกูลของตระกูลบูลกุญ (มาบุญครอง) ที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ 3 (ค.ศ.1930-1940) กลุ่มเหล่านี้ทั้งหมดได้ขยายกิจการของตนเองออกไปในธุรกิจแขนงอื่น ๆ ที่เคยอยู่ในมือของบริษัทของชาวยุโรป เช่น การธนาคาร การเดินเรือ ในระยะที่นายลิบบ๊วยบริหารห้างตั้งฮ้วงหลี ได้เปลี่ยนชื่อกิจการจากเดิมเป็นบริษัทหวั่งหลี มีการตั้งฝ่ายการเงิน

เพื่อความคล่องตัวในด้านการแลกเปลี่ยนเงินในกิจการของบริษัทและตั้งแผนกประกันเรือรวมทั้งสินค้า เพื่อป้องกันความเสียหายในการเดินเรือบรรทุกสินค้า

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใน พ.ศ.2461 (ค.ศ.1918) นายลิบบ๊วยได้ตั้งห้างฮ่วงหลีจั่น เพื่อทำหน้าที่ ฮ่วยจี๊ หรือแลกเปลี่ยนและส่งเงินตราต่างประเทศ ห้างฮ่วงหลีจั่นต่อมาได้กลายเป็นบริษัทธนาคารหวั่งหลีจั่น และธนาคารหวั่งหลี ตามลำดับ ก่อนที่จะเป็นธนาคารนครธน ส่วนแผนกประกันภัยได้เปลี่ยนเป็นบริษัท หล่วงหลีประกันภัย และเป็นบริษัท นวกิจประกันภัย ในปัจจุบัน

นายลิบบ๊วยได้ร่วมกับนายกอฮุยเจี๊ยะ (กอฮักซิว) ก่อตั้งหอการค้าไทย-จีน ในปี พ.ศ.2453 (ค.ศ.1910) มีชื่อว่า

“เสี่ยมเกียตงฮั้วจงเซียงหวย” (สโมสรพาณิชย์จีนแห่งกรุงสยาม) และเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง จนเป็น “หอการค้าไทย-จีน” มาจนถึงปัจจุบัน

“ช่วงชีวิตที่นายลิบบ๊วยย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม ตรงกับปลายรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่คนไทยบางกลุ่มเริ่มแสดงออกถึงความรู้สึกที่ว่า คนจีนที่เข้ามาทำมาหากินในสยาม ก็คือส่วนหนึ่งของ “ยิวตะวันออก” เป็นความรู้สึกที่เกิดจากมุมมองที่เห็นว่า คนจีนได้กระจายออกไปทั่วภาคพื้นเอเชีย เพื่อทำมาหากินสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยจากการเอาเปรียบชนดั้งเดิมของประเทศ เช่นเดียวกับที่ชาวยิวได้กระทำกับชาวยุโรป”

นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มสำคัญของตระกูล “หวั่งหลี” ที่ไม่ใช่แค่บันทึกของวงศ์ตระกูลที่

“คนใน” เอาไว้อ่านกันเอง แต่เป็นหนังสือที่ฉายภาพการค้าวาณิชในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว เรื่อยมา รวมถึงสะท้อนวิถีชีวิตชาวจีนในแผ่นดินไทยหลายแง่มุม