ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายสมศักดิ์ แพงอนันต์ เกษตรกรบ้านโคกหินช้าง ต.สาหร่าย อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ได้หันมาปลูกมันสำปะหลัง ใช้วิธีระบบน้ำหยดเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากบ่อบาดาลที่มีอยู่ปล่อยไปตามท่อที่วางระบบเข้าไปตามร่องของไร่มัน ซึ่งได้เจาะรูเล็กๆ เอาไว้ตามท่อหรือสายยางที่วางระบบเอาไว้เพื่อให้เป็นระบบน้ำหยดเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับ ต้นมันสำปะหลังตลอดทั้งวัน โดยจะเปิดน้ำเข้าแปลงเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้นพื้นดินก็จะมีความชุ่มชื้นต้นมันสำปะหลังมีความอุดมสมบูรณ์เจริญเติบโตได้เต็มที่ ส่วนระหว่างที่รอการเก็บผลผลิตซึ่งต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8-12 เดือน ช่วงนี้จึงปลูกพืชอายุสั้น แซมในพื้นที่ไร่มัน เป็นต้นว่า ข้าวโพด,ถั่วลิสง,ถั่วฝักยาวและพืชผักสวนครัวชนิดอื่นเพื่อเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยังได้เก็บผลผลิตส่งจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในช่วงหน้าแล้งนี้ได้เป็นอย่างดี
นายสมศักดิ์เปิดเผยว่า ตนเองลงทุนปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 40 ไร่ โดยในพื้นที่ กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงจำเป็นต้องคิดค้นหาวิธีปลูกมันสำปะหลังระบบน้ำหยดโดยการลงทุนเจาะน้ำบาดาล เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ และสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ตลอดทั้งปี และ ให้ผลผลิตดีโดยไม่ต้องรอคอยน้ำฝน ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ปลูกตามฤดูกาลเหมือนชาวบ้านทั่วไปแต่เมื่อหันมาใช้วิธีระบบน้ำหยดจนได้ผลผลิตดีมากกว่าเท่าตัวและปลูกได้ตลอดทั้งปีขายหัวมันสดทั้งในช่วงที่ราคาลดและราคาปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ยังปลูกพืชอื่นเสริมในไร่มันสำปะหลังอีกสามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปีจนตนเองมีเงินเก็บพอสมควร