ล้งป่วนราคาผลไม้ดิ่งหนักรอบ 10 ปี ชะลอออร์เดอร์”มังคุด-ทุเรียน”วูบกว่า60%

ผู้ส่งออก-ล้งผลไม้ภาคตะวันออกป่วน ชะลอรับออร์เดอร์ หยุดเหมาซื้อยกสวน เหตุราคา “ทุเรียน-มังคุด-เงาะ” แกว่งตัวหนักในรอบ 10 ปี หลังปริมาณผลผลิตลดฮวบ เฉพาะ “มังคุด” หายไป 60-70% กำลังซื้อตก ทำราคาดิ่งลงสวนทาง แถมมีคู่แข่งอินโดฯ-มาเลย์เตรียมนำผลไม้ราคาถูกขย่มซ้ำ แนะผลิตสินค้าคุณภาพ ดึงราคาตลาดขึ้น

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์ปริมาณไม้ผลภาคตะวันออก 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ปี 2561 ของสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ เดือนเมษายน 2561 ว่า มีปริมาณรวมลดลงทุกตัว (ดูตาราง)

“มังคุด” ยอดวูบ 60-70%

นายสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนนี้ ผลผลิตผลไม้หลัก 4 ชนิดกำลังออกสู่ตลาด ประมาณการผลผลิตปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 412,907 ตัน หรือลดลง 18.68% เมื่อเทียบกับปี 2560 มีผลผลิตรวม 507,772 ตัน โดยทุเรียนลดลง 2.03% มังคุด มีผลผลิต 36,356 ตัน ลดลง 67.62% เทียบกับปี 2560 ที่มีปริมาณ 112,309 ตัน ส่วนเงาะ ลดลง 8.91% และลองกอง ลดลง 28.92% ทั้งนี้ ในช่วงต้นฤดูทุเรียนมีราคาขายส่ง 150 บาท/กก. มังคุด 190 บาท/กก. มังคุด 140 บาท/กก. ส่วนช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก ราคาจะปรับลงอีก แต่คาดว่าจะสูงกว่าปี 2560 โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ตลาดต่างประเทศยังต้องการรับซื้อ

ส่งออก-ล้งชะลอรับออร์เดอร์

นายมณฑล ปริวัฒน์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด และเจ้าของล้ง “อรษา” อ.เมือง จ.จันทบุรี กล่าวว่า มังคุดปีนี้มีปริมาณผลผลิตน้อยกว่าปีก่อน 30-50% มีผลกระทบต่อผู้ส่งออกทั้งรายใหญ่และรายย่อยยังไม่กล้าตัดสินใจเหมาซื้อ ขณะที่ล้งยังไม่กล้ารับออร์เดอร์ โดยทุกฝ่ายรอดูราคาวันต่อวัน ปลายเดือนมีนาคมถือเป็นช่วงต้นฤดูราคาประมาณ 140-170 บาท/กก. ถือว่าไม่ใช่ราคาที่แท้จริง และยังต้องรอดูสถานการณ์ตลาดต่างประเทศ ที่มีคู่แข่งจากอินโดนีเซีย และมาเลเซียส่งสินค้าเข้ามาง่ายขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าราคาผลไม้ปีนี้ไม่น่าสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ได้ร่วมกับกรมการค้าภายในขยายตลาดไปหนานหนิง กุ้ยโจว เซี่ยงไฮ้ และอีกหลายเมืองของจีน รวมถึงตลาดใหม่อย่างอินเดีย ขณะเดียวกันได้เสนอให้มีการจดทะเบียน “ล้ง” เพื่อสร้างมาตรฐานให้ผู้ประกอบการและคุณภาพของผลไม้ ซึ่งท้ายที่สุดราคาจะนิ่งถ้าผลิตสินค้ามีคุณภาพ

นายโอภาส ชอบรส หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ปีนี้ผลผลิตลดลงทั้ง 4 ชนิด ในส่วนของตลาดทุเรียนไม่น่าห่วง เพราะราคาดี และตลาดจีนยังรองรับได้มาก มีการทำตลาดพรีเมี่ยม เพียงแต่ควบคุมคุณภาพ ส่วนเงาะคาดว่าจะมีปัญหาเล็กน้อย สำหรับมังคุดน่าเป็นห่วง เพราะราคาปรับตัวลงเร็วมากจาก 150-160 บาท/กก. เหลือ 120-130 บาท/กก. สาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ และเดือนเมษายน-พฤษภาคมมีมังคุดจากอินโดนีเซียราคาถูกกว่าออกมาแข่งขันจะทำให้ราคาดิ่งลง

“ค้าภายใน” หนุนซื้อนำตลาด 1 บาท

นายวิโรจน์ พิเภก พาณิชย์จังหวัดตราด กล่าวว่า ได้จัดหาตลาดรองรับผลผลิตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ทำข้อตกลงให้ผู้ผลิตผลไม้แปลงใหญ่ร่วมมือกันซื้อขายผ่านสหกรณ์ 4 แห่ง คือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จำกัด สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ่อไร่ จำกัด และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด ทั้งผลไม้สดและทุเรียนแช่แข็งส่งออกจีน การยกระดับทุเรียนชะนีเกาะช้าง เป็นสินค้าพรีเมี่ยม มีใบรับรอง GAP ตรวจสอบได้ระบบ QR code และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด วิสาหกิจชุมชนเพื่อนเกษตรมังคุดบ่อไร่ จัดทำข้อตกลงกับบริษัท เซ็นทรัลฟูดส์ รีเทล จำกัด บริษัท ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เกต ส่วนเงาะ ทางกรมการค้าภายในให้สหกรณ์การเกษตรกร 3 แห่ง รวบรวมด้วยราคานำตลาดกิโลกรัมละ 1 บาท กระจายผลผลิตไปยังห้างโมเดิร์นเทรดในประเทศและต่างประเทศ

จับตาราคาทุเรียนหลัง เม.ย.ขึ้น

ทางด้านนายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดตราด และประธาน บริษัท ไทยอะกริเน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร กล่าวว่า ราคาผลไม้ปีนี้ต้องจับตามอง คือ ทุเรียนราคาต้นฤดูส่งออกไป 140-150 บาท/กก. หลังกลางเดือนเมษายนน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15% โดยตลาดปลายทางเมื่อรับผลผลิตแล้วจึงตีราคา ทั้งนี้ ราคาที่รับซื้อจากเกษตรกรถือเป็นราคาล่วงหน้า 7 วัน จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ส่วนมังคุด ผลผลิตลดลงถึง 70% พ่อค้าจะแย่งกันซื้อ แต่ราคาจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วไม่มากนัก เพราะตลาดจีนรู้ต้นทุนราคาที่เหมาะสม ผลไม้ที่ราคากลาง ๆ จะขายดี ถ้าราคาสูงเกินไป คนซื้อน้อย ทางออก คือ เกษตรกรต้องผลิตสินค้าคุณภาพ ต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับพ่อค้า และนายหน้า ไม่ใช่ให้พ่อค้าเข้าไปซื้อถึงสวนและกำหนดราคาซื้อ

แนะทำสินค้าพรี่เมี่ยมดึงราคา

นายธนภัทร จาวินิจ ผู้จัดการสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรกร จ.ตราด จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์รับซื้อเงาะมาประมาณ 10 ปี ตั้งข้อสังเกตว่า ปีนี้ราคาเงาะลงเร็วที่สุด จากเงาะสีทองที่ออกสู่ตลาดรุ่นแรกราคา 100 บาท/กก. ผ่านมาเพียง 4-5 วัน ราคาลงมาเหลือ 40-50 บาท/กก. คาดการณ์ว่าถ้าผลผลิตเงาะโรงเรียนทยอยออกช่วงปลายเดือนเมษายน ราคาเปิดตลาดจะลดลงต่ำกว่า 60 บาท/กก. สาเหตุที่ราคาเงาะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเร่งเก็บเงาะผิวเขียว ผิวเหลือง ไม่มีคุณภาพ ตลาดขายไม่ได้ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจทั่วไปไม่ดี ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรทำเงาะคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ราคาจะไม่แกว่ง และจะขายได้สูงกว่าตลาดทั่วไป 3-5 บาท/กก. สามารถส่งห้างโมเดิร์นเทรด และส่งออกไปตลาดเวียดนาม จีนได้

ทางด้านนายพิเชษฐ์ มูลชอบ พ่อค้าผู้รวบรวมมังคุดให้บริษัทส่งออก ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด กล่าวว่า ผลผลิตมังคุดปีนี้มีการกระจายตัวดี แต่มีปริมาณน้อยมากไม่เกิน 30% เกษตรกรส่วนใหญ่คาดว่าปริมาณมังคุดที่มีน้อยจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้น แต่หากราคาสูงเกินไป ตลาดปลายทางไม่สามารถรับซื้อได้ เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ดังนั้น เกษตรกรต้องวางแผนการผลิต ทำคุณภาพให้ได้มาตรฐาน และวางแผนการตลาด เพราะแต่ละตลาดมีมาตรฐานต่างกันและราคาต่างกัน เช่น เวียดนาม 40-45 บาท/กก. จีน 50-60 บาท/กก.