รัฐบาลเตรียมจ่ายชดเชยพื้นที่เกษตร 120,000 ไร่ 13 จังหวัด

รัฐบาลเตรียมจ่ายชดเชยพื้นที่เกษตรเสียหาย กว่า 120,000 ไร่ 13 จังหวัด ขณะที่กรมชลประทานลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนบริเวณคันกั้นน้ำกับตลิ่งแม่น้ำ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกันช่วยเหลือน้ำหลากในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทองที่เขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ จึงอยากสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือพร้อมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมน้ำหลาก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 59) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 42,659 ครัวเรือน เป็นพื้นที่เกษตร 121,619 ไร่ รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด จำนวน 38 อำเภอ 198 ตำบล 1,011 หมู่บ้าน โดยรัฐบาลจะมีการจ่ายค่าชดเชยและช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ เป็นต้น จึงขอให้มีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งได้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะยึดหลักประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคันกั้นน้ำกับตลิ่งแม่น้ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,762 ลบ.ม./วินาที เทียบกับ 1,998 ลบ.ม./วินาที ก่อนวันที่  30  กันยายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม  จากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558/2559 ทำให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกช้ากว่าปีปกติ คือ เริ่มประมาณเดือนมิถุนายน –กรกฎาคม  ทำให้ขณะนี้ยังมีข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการที่ Gistda ใช้ดาวเทียมถ่ายภาพสำรวจ พบว่า มีปริมาณน้ำในลำน้ำมาก แต่ไม่มากเท่าปี 2554 ปัจจุบันยังมีพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 1 เดือน รัฐบาลจึงมีความห่วงใยเกษตรกร จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานพิจารณาการผันน้ำ ซึ่งหากพื้นที่ใดยังไม่ได้ทำการเก็บเกี่ยวจะไม่มีการผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตร

พลเอกฉัตรชัย  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มองพื้นที่ภาพรวมได้มีการหารือกับทุกฝ่ายและตัดสินใจดำเนินการโดยยึดประชาชนเป็นหลัก โดยการผันน้ำออกฝั่งซ้ายขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ยังมีโอกาสฝนตกใต้เขื่อน ทำให้มีน้ำหลากเกิดขึ้นอีก จึงต้องเร่งระบายน้ำ โดยทางที่เร็วที่สุด คือ การระบายทางตรงผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับน้ำท่วมขังในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำนั้น เป็นการท่วมระหว่างคันกั้นน้ำกับแม่น้ำยังไม่ล้นคันกั้นน้ำ จึงยังไม่มีการปล่อยน้ำส่วนนี้เข้าพื้นที่เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวแล้ว เพราะน้ำยังไม่มากเกินไปแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับได้

ส่วนกรณีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์น้ำใกล้จะเต็มเขื่อนนั้น ถือเป็นลักษณะปกติ เพราะมีพื้นที่รับน้ำมากสามารถระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้เขื่อนพระราม 6 ได้ ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประมาณ 1,600 ลบ.ม./วินาที หากจะท่วม กทม.ต้องมีน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 3,800 ลบ.ม./วินาที แต่ได้สั่งการให้กรมชลประทานพยายามรักษาระดับน้ำไว้แค่เพียง 2,000 ลบ.ม./วินาที และให้ลดการระบายน้ำลงอีก ถ้ามีปริมาณฝนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ จึงอยากสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือพร้อมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมน้ำหลาก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 59) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 42,659 ครัวเรือน เป็นพื้นที่เกษตร 121,619 ไร่ รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด จำนวน 38 อำเภอ 198 ตำบล 1,011 หมู่บ้าน โดยรัฐบาลจะมีการจ่ายค่าชดเชยและช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ เป็นต้น จึงขอให้มีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งได้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะยึดหลักประชาชนเป็นสำคัญ

ที่มา  สำนักข่าวไทย