เตรียมตัวไว้เลย! หลัง 6เม.ย.นี้คนกรุงลุ้นหนาวอีกรอบ พายุฤดูร้อนรุนแรง-ลูกเห็บตกบางพื้นที่

แบบจำลองสภาพอากาศ ก.วิทย์ ชี้หลัง 6 เม.ย.กทม.อากาศอาจหนาวเย็นอีกรอบและมีพายุฝนฤดูร้อนรุนแรง ผลจากความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน อีกทั้งมีฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บในบางพื้นที่ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดไล่มาตั้งแต่ตะวันออกเฉียงเหนือ ลงสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ให้เตรียมรับมือตรวจความมั่นคงสิ่งปลูกสร้างรับพายุฤดูร้อน ส่วน 24 ช.ม.ที่ผ่านมามีฝนตกกระจายทั่วทุกเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่อ่าวไทยและภาคใต้จะมีฝนตกต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพฯ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ปริมาณฝนสูงสุด จุดวัด ซ.แอนเน็กซ์ เขตสายไหม 41.5 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตดอนเมือง 19.0 ม.ม. จุดวัดสำนักงานเขตลาดพร้าว 4.5 ม.ม. ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ที่สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ

ต่อมาเวลา 08.30 น. เกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในเขตยานนาวา บางคอแหลม สาทร บางนา ประเวศ พระโขนง สวนหลวง วัฒนา ลาดพร้าว บึงกุ่ม คันนายาว วังทองหลาง ห้วยขวาง บางซื่อ จตุจักร หลักสี่ ดินแดง พญาไท ดุสิต ธนบุรี ทวีวัฒนา หนองแขม ตลิ่งชัน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง คลองสาน บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางพลัด ภาษีเจริญ อ.บางกรวย อ.เมือง จ.นนทบุรี และ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เคลื่อนตัวทิศตะวันตก โดยปริมาณฝนสะสมสูงสุดที่เขตวัฒนา 28 มิลลิเมตร (ม.ม.) รองลงมาที่สถานีสูบน้ำบางซื่อ 23.5 ม.ม. ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ที่สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ และในเวลา 15.00 น. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่พบกลุ่มฝน จนถึงเวลา 16.00 น. เกิดฝนเล็กน้อยเขตหนองจอก ต่อเนื่อง อ.บางน้ำเปรี้ยว แนวโน้มฝนคงที่

ขณะที่ทางแบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (วท.) ตรวจสอบพบว่าในวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนแล้ว

ทำให้ลมตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการปะทะกับลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ส่วนลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงกำลังอ่อนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้วมาปะทะกับอากาศร้อนชื้นที่สะสมในพื้นที่ และจะเกิดยกตัวขึ้นเป็นฝน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดคล้ายกับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งเกิดฝนตกหนักที่บริเวณรังสิต จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด

วาฟ-รอมแจ้งด้วยว่า หลังวันที่ 2 เมษายน ความกดอากาศสูงจะอ่อนกำลังลง ปริมาณฝนก็จะลดลง และช่วงวันที่ 6 เมษายน พบว่ามีแนวโน้มบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามความคาดหมาย จะทำให้บริเวณความกดอากาศสูงค่อนข้างแรงดังกล่าวเกิดการปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อนที่มีความรุนแรงและอาจจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บในบางพื้นที่ ประมาณวันที่ 6-7 เมษายน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดไล่มาตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ

“จากนั้นประมาณวันที่ 8-9 เมษายน อุณหภูมิจะลดต่ำลง โดยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสอีกรอบ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะมีลุ้นว่าอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ดังนั้น ในช่วงวันที่ 6-7 เมษายน ขอเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไปเตรียมการตรวจสอบความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือกับพายุฤดูร้อนในรอบนี้” วาฟระบุ

วาฟระบุด้วยว่า ปรากฏการณ์ที่เดือนเมษายนยังคงมีอากาศหนาวเย็นในบางช่วงอาจจะไม่ค่อยได้พบเจอมากนัก แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีมาบ้างแล้ว โดยช่วงเวลานี้ยังคงมีบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาอยู่ ซึ่งนอกจากส่งผลให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิลดลงแล้ว ยังทำให้ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น มีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะตกในบางพื้นที่อีกด้วย