เปิดวิ่งดีเซลรางเสริมวันแรก แก้แอร์พอร์ตลิงก์ แออัด

“ไพรินทร์” ไฟเขียวแอร์พอร์ตลิงก์ “เช่ารถ-ซื้ออะไหล่สต๊อก” แก้ปัญหาซ่อมช้ารถไม่พอให้บริการ บิ๊กแอร์พอร์ตลิงก์ ลั่นกลาง เม.ย. หมดปัญหาแออัด

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เดินทางไปตรวจเยี่ยมการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีปัญหาร้องเรียนเรื่องความแออัดและขบวนรถเสียบ่อย โดยได้ทดลองใช้บริการจากสถานีมักกะสันไปยังสถานีลาดกระบัง จากนั้นได้ทดลองใช้บริการรถไฟดีเซลราง ขบวนเสริมพิเศษรอบปฐมฤกษ์ เส้นทาง ลาดกระบัง-กรุงเทพ-ลาดกระบัง เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ โดยนั่งจากสถานีลาดกระบังไปยังสถานีหัวลำโพง

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ยอมรับว่า แอร์พอร์ตลิงก์มีปัญหาซ่อมบำรุงทำให้นำรถมาวิ่งให้บริการได้เพียง 4 ขบวน ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ได้สั่งการให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขบวนรถพิเศษดีเซลรางโดยสาร ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าจาก ลาดกระบัง-กรุงเทพ และช่วงเย็นจากกรุงเทพ-ลาดกระบัง นั่งปรับอากาศ จำนวน 2 ตู้ และรถพัดลมอีก 4 ตู้ มาให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ วันละ 2 ขบวน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน และแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งขบวนรถสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 600 คนต่อเที่ยว เริ่มให้บริการเที่ยวแรก 30 มีนาคม 2561

สำหรับเที่ยวเช้า จะมีขบวนรถพิเศษที่ 994 ลาดกระบัง-กรุงเทพ ออกจากสถานีลาดกระบังเวลา 07.45 น. ถึงหัวลำโพง 08.40 น. ส่วนเที่ยวเย็น จะวิ่งขบวนรถพิเศษที่ 995 กรุงเทพ-ลาดกระบัง ออกจากสถานีหัวลำโพงเวลา 18.30 น. ถึงลาดกระบัง 19.25 น. อัตราค่าโดยสารรถนั่งปรับอากาศ คนละ 20 บาท รถนั่งพัดลม คนละ 10 บาท สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อตั๋วโดยสารได้ โดยรถจะจอดเฉพาะสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เท่านั้น ประกอบด้วย 8 สถานีคือ ลาดกระบัง, บ้านทับช้าง, หัวหมาก, ป้ายหยุดรถสุขมุวิท 71 หรือแอร์พอร์ตลิงก์รามคำแหง, ป้ายหยุดรถอโศก หรือแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน, มักกะสัน, ป้ายหยุดรถพญาไท หรือแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท และหัวลำโพง

นายไพรินทร์ กล่าวต่อถึงปัญหารถไม่เพียงพอว่า หากแอร์พอร์ตลิงก์ไม่มีปัญหาซ่อมบำรุง รถที่มีอยู่ 9 ขบวนสามารถให้บริการรองรับผู้โดยสารได้เพียงพอ ขณะที่แผนการจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวนนั้นคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพราะเป็นการสั่งผลิต ดังนั้นในระยะสั้นอาจจะพิจารณาเรื่องของการเช่ารถไฟฟ้ามาให้บริการเสริมก่อน ส่วนจะใช้งบประมาณเท่าไหร่นั้น รฟท. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ส่วนแผนการซ่อมบำรุงได้ให้นโยบายแอร์พอร์ตลิงก์ไปจัดซื้ออะไหล่ที่มีความสำคัญมาเก็บสต๊อกไว้ได้ เพื่อใช้ซ่อมฉุกเฉินป้องกันปัญหาการซ่อมบำรุงที่ล่าช้าโดยให้นำเสนอโครงการขอจัดสรรงบประมาณมายังกระทรวงคมนาคมได้

“เดิมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับผู้โดยสารจำนวนมาก แต่ออกแบบมาเพื่อรับผู้โดยสารจากสนามบินสุวรรณภูมิส่งต่อเข้ามาใน กทม. เท่านั้น แต่ปัจจุบันประชาชนทั่วไปกลับนิยมเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก จนยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสูงถึงวันละ 7-8 หมื่นคน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ทำให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งใช้ความเร็วสูงเกิดปัญหาเร็วขึ้น ทำให้ต้องซ่อมบำรุงถี่ขึ้น ซึ่งเราก็กำลังเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่”

นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า ระยะนี้จะทดลองวิ่งให้บริการรถไฟดีเซลรางขบวนเสริมพิเศษไปก่อน ประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะทำการประเมินผล หากได้รับความนิยม รฟท. อาจจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำไปปรับปรุงรถเก่ามาเสริมเพิ่มอีก 2 ตู้ รวมเป็นทั้งหมด 8 ตู้ เนื่องจากบางส่วนต้องนำไปใช้เป็นรถหมุนเวียน

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยถึงสาเหตุของความแออัดของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ว่า ยอมรับว่ามีปัญหามากตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค. เนื่องจากในช่วงดังกล่าวรถสามารถวิ่งให้บริการได้เพียง 4 ขบวน จาก 9 ขบวน โดยอีก 5 ขบวนที่เหลือต้องจอดรอซ่อมเพื่อเปลี่ยนอะไหล่ล้อและปั๊มลมที่ติดปัญหานำเข้าล่าช้าในกระบวนการของผู้ผลิต ซึ่งขณะนี้แอร์พอร์ตลิงก์เตรียมที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวแล้ว

“เดือนมี.ค. เรามีปัญหามากเพราะรถวิ่งได้ 4 ขบวน คาดว่ากลางเดือนเม.ย.นี้ ปัญหาจะหมดไปแน่นอน เพราะจะซ่อมรถเสร็จเพิ่มอีก 3 ขบวน ทำให้สามารถนำรถมาวิ่งให้บริการได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้เพียงพอและจะสามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการกลับมาอยู่ในระดับปกติได้คือ 10 นาทีต่อขบวน ถี่ขึ้นจากปัจจุบันที่ให้บริการอยู่ที่ 12 นาทีต่อขบวน และประมาณเดือนธ.ค. หรือสิ้นปี จะซ่อมรถเสร็จทั้งหมดทั้ง 9 ขบวน สามารถวิ่งให้บริการได้ครบทั้งหมด”

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์