วิกฤตอุตสาหกรรม “กุ้งไทย” เสียแชมป์ส่งออก

ถึงวันนี้อาจจะกล่าวได้ว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมกุ้งไทยอยู่ในช่วงที่ไม่สดใสนัก จากข้อมูลของกรมประมงที่เผยแพร่ภายในงานวันกุ้งไทยครั้งที่ 28 ที่โรงแรมวังใต้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า ผลผลิตกุ้งไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 และเสียอันดับการส่งออกหลังจากโรคระบาด EMS เมื่อช่ วงปี 2555 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งไทยลดต่ำสุดในปี 2557 เหลือเพียง 2 แสนกว่าตัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังวิกฤต โรค EMS จะผ่านไป และกุ้งไทยก็เริ่มฟื้นตัวในปี 2558 และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2559 เป็น 310,979 ตัน แต่ในปี 2560 ผลผลิตกุ้งของไทยกลับลดลงอีกครั้งเหลือเพียง 297,111 ตัน

นายสรพัศ ปณกร ตัวแทนบริษัท โนโวไซม์ ไบโอโลจิคอล จำกัด ประมาณการในปี 2560 ว่าผลผลิตกุ้งในหลาย ๆ ประเทศมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย มีปริมาณผลผลิต 560,000 ตัน เอกวาดอร์ 430,000 ตัน และเวียดนาม 420,000 ตัน อินโดนีเซีย 280,000 ตัน ละตินอเมริกา 300,000 ตัน จีน 400,000 ตัน

ด้าน น.สพ.ปราการ เจียรคงมั่น ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด บอกว่า ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งไทยมีคู่แข่งที่น่ากลัวหลายประเทศ อาทิ เวียดนาม อินเดีย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพด้านพื้นที่ในการเลี้ยงกุ้งค่อนข้างสูง โดยอินเดียมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวถึง 7,500 กิโลเมตร

ปัจจุบันมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งประมาณ 470,000 ไร่ และยังมีพื้นที่ที่สามารถขยายการเลี้ยงกุ้งได้อีกมาก ซึ่งทางการรัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่าในปี 2018-2019 จะมีปริมาณผลผลิตกุ้งประมาณ 697,000-757,000 ตัน นอกจากนี้รัฐบาลยังเข้มงวดโดยไม่อนุญาตให้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากประเทศที่พบโรค EMS ระบาดเข้ามาในประเทศด้วย

นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังทุ่มงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ในการพัฒนาเทคโนโลยีและสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มการผลิตและการส่งออกกุ้ง โดยคาดหวังว่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกกุ้งของเอเชีย

ขณะที่เวียดนามมีพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 4,343,750 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ หรือที่เรียกว่าแม่โขงเดลต้า และเป็นพื้นที่เลี้ยงแบบธรรมชาติกว่า 4 ล้านไร่ เลี้ยงแบบพัฒนากว่า 2 แสนไร่ และตั้งเป้าจะเพิ่มยอดส่งออกกุ้ง 3 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยใช้นโยบายเปลี่ยนนาข้าวเป็นนากุ้ง หวังเปลี่ยนพื้นที่การเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติที่มีอยู่เดิมเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนา ตั้งเป้าหมาย 4-6 ล้านไร่ในอนาคต โดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงกุ้งขนานใหญ่ หลังประสบวิกฤตโรค EMS ระบาด เมื่อปี 2014 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนบ่อพักน้ำมากขึ้น ลดสารอินทรีย์ให้น้อยลง ปรับขนาดบ่อเลี้ยงให้เล็กลง เลี้ยงในระบบน้ำตื้นขึ้น สามารถเลี้ยงได้ทั้งน้ำเค็มและน้ำกร่อย ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายวัลลภ ล้อมลิ้ม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยนฟีด จำกัด ให้ข้อมูลว่า ตลาดกุ้งของเวียดนาม คือ จีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ อียู และญี่ปุ่น เวียดนามมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย แต่คุณภาพกุ้งไม่แตกต่างกับจากไทยมากนัก ปัจจุบันผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของโลกคือจีน นำเข้ากุ้งเพื่อบริโภคในประเทศราว 600,000 ตัน และนำเข้ากุ้งเพื่อแปรรูปแล้วส่งออกอีก 400,000 ตัน ส่วนการบริโภคกุ้งจากทั่วโลกมีตัวเลขในปี 2560 อยู่ที่ปริมาณ 3.2 ล้านตัน

จากสถานการณ์การแข่งขันที่มากขึ้น และคู่แข่งหลาย ๆ ประเทศ มีผลผลิตมากกว่า มีต้นทุนต่ำกว่า รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรผู้ผลิตกุ้งไทยและผู้แปรรูปกุ้งต้องปรับตัว เร่งหาตลาดใหม่ เพื่อให้สถานภาพของการส่งออกกุ้งไทยก้าวแซงคู่แข่งกลับมาเป็นเบอร์ต้นของโลกอีกครั้ง