ลูกจ้างส่วนราชการ-เอกชนกว่า 12 ล้านรอรับ ‘เงินทดแทนขาดรายได้’ เพิ่ม

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายมนัส โกศล  ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เงินทดแทนฉบับ พ.ศ…กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนด้านสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงาน ผู้ประกันตน รวมไปถึงลูกจ้างส่วนราชการที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์แม้จะประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงานตอบรับ และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้นำร่างพ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับ พ.ศ. ..เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยได้รับหลักการวาระที่ 1 แล้ว และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับพ.ศ… โดยมีพล.อ. ศุภกร   สงวนชาติศรไกร เป็นประธานกรรมาธิการฯ

นายมนัส กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ต้องขอบคุณรัฐบาล ขอบคุณสำนักงานประกันสังคม กับทางกระทรวงแรงงานที่ช่วยผลักดันร่างพ.ร.บ.เงินทดแทนที่ทำการแก้ไขฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างส่วนราชการ ซึ่งเดิมไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ โดยคนกลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านคน  จะเป็นลูกจ้างส่วนราชการ ทั้งแบบจ้างรายปี จ้างเหมา ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ ทำงานไปเรื่อยๆ จนอายุ 60 ปี หากประสบปัญหาจากการทำงานก็ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ เลย  แต่หากผ่านขั้นตอนต่างๆตามกฎหมายแล้ว ลูกจ้างส่วนราชการจะมีสิทธิได้รับการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนการขาดรายได้ การประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน เจ็บป่วยด้วยโรคเนื่องจากการทำงาน ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิจจากการทำงาน ก็จะได้รับสิทธิสวัสดิการเทียบเท่าผู้ประกันตนหรือลูกจ้างในสถานประกอบการ หรือตามร่างกฎหมายจะระบุว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องปฏิบัติ สรุปคือ จะได้สิทธิเหมือนกันหมดไม่ว่าลูกจ้างส่วนราชการหรือภาคเอกชน

นายมนัส กล่าวอีกว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีประโยชน์กับลูกจ้างที่มีนายจ้างอีกกว่า 11 ล้านคนทั้งหมด ไม่เพียงแต่ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน เนื่องจากร่างกฎหมายได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างให้ได้รับอย่างเพียงพอ โดยระบุเพิ่มว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายจากการทำงาน ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือน เรียกว่าเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนจากปัจจุบันจ่ายร้อยละ 60  โดยระยะเวลาการจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี    นอกจากนี้ ยังเพิ่มกรณีหากเสียชีวิตจะได้รับร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นเวลา 10 ปีจากปัจจุบัน 8 ปี ซึ่งกรณีนี้ได้รับสูงสุดถึง 2 ล้านบาท

“แต่ประเด็นที่ทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานจะมีการเสนอเพิ่มเติมในการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ คือ กรณีลูกจ้างทุพพลภาพจะต้องจ่ายให้ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน กำหนดไม่น้อยกว่า 15 ปี จากปัจจุบัน 10 ปี แต่ทางเครือข่ายผู้ใช้แรงงานมองว่าควรเหมือนกฎหมายประกันสังคม โดยให้ตลอดชีวิต” นายมนัส กล่าว และว่า สำหรับขั้นตอนทางกฎหมายจะต้องมีการประชุมพิจารณาในสนช.วาระ 2 และวาระ 3 จากนั้นเมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆก็จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายมนัส โกศล