ราชบัณฑิต แจง “แซว-แซ็ว” ใช้ยังไง “คะ ค่ะ ค้ะ ค๋ะ ค๊ะ” แบบไหนถึงถูกต้อง!

หลายครั้งที่การใช้ภาษาไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และการสะกดคำผันวรรณยุกต์ คำบางครั้งมีการใช้ผิดซ้ำอยู่บ่อยๆ หลายครั้งกลายเป็นดราม่า เพราะการสะกดคำไม่ถูกต้อง

ล่าสุด เพจ ราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายคำที่มีการใช้ผิดบ่อยครั้ง คือ คำว่า “แซว”, “คะ”, “ค่ะ”, “นะคะ” ปัจจุบันการเขียนคำลงท้ายแสดงความสุภาพที่ผู้ชายใช้ไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่คำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ค่อนข้างจะสับสน เช่น “คะ” ไปใช้ว่า “ค๊ะ”, “ค๋ะ” หรือสับสนในการใช้คำว่า “คะ” กับ “ค่ะ” เช่น ใช้ว่า “มาแล้วคะ”, “กำลังอ่านหนังสืออยู่นะค่ะ”, “ทำอะไรอยู่หรือค่ะ” ซึ่งที่ถูกต้องแล้วต้องใช้ว่า “มาแล้วค่ะ”, “กำลังอ่านหนังสืออยู่นะคะ” หรือ “กำลังอ่านหนังสืออยู่ค่ะ”, “ทำอะไรอยู่หรือคะ” เวลาเขียนจึงควรช่วยกันเขียนให้ถูกต้องด้วย โดยให้จำไว้เสมอว่ารูปเขียนที่ถูกต้องคือ “คะ”, “ค่ะ”, “นะคะ” (ไม่มี ค๊ะ, ไม่มี ค๋ะ, ไม่มี นะค่ะ)

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “แซว” ที่มีผู้สงสัยอยู่ว่า ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “แซว” หรือ “แซ็ว” นั้น อาจเป็นด้วยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เก็บคำว่า “แซว” ที่เป็นภาษาปากมีความหมายว่า “กระเซ้า” ไว้ และพิมพ์คำผิดเป็น “แซ็ว” จึงทำให้มีคำว่า “แซ็ว” ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฯ และทำให้เกิดข้อสงสัย ทั้งนี้ ปัญหาจากการพิสูจน์อักษรผิดดังกล่าว สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในการจัดพิมพ์พจนานุกรมฯ ครั้งต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาหยอกล้อแซวกันเล่น ก็เขียนว่า “แซว” หรือจะเป็นแซววาที ก็เขียนว่า “แซว” รวมทั้ง “แซว” ในคำว่า แซงแซว (นกแซงแซว) ตลอดจน “แซว” ในคำว่า อีแซว (เพลงอีแซว) ก็เขียนว่า “แซว” ทั้งสิ้น