สนช. เปิดตัว “สถาบันวิทยาการนวัตกรรม” NIA Academy ขานรับการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และธุรกิจ ได้พร้อมใจกันขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ด้วยการจัดตั้ง“สถาบันวิทยาการนวัตกรรม” เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ ผู้บริหาร ภาครัฐ เอกชน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เรียนรู้การยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมสู่ความสำเร็จอย่างสร้างสรรค์ โดยมีการเปิดแถลงข่าวการเปิดตัวสถาบันฯ และลงนามในความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปในวันนี้ (16 มีนาคม 2561) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งมาพร้อมพันธกิจในการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมโดยรวมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “องค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน” ขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ของชาติ


ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เผยว่า ทางสถาบันฯ ได้รวบรวมหลักสูตรการยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ ตลอดจนศึกษาแนวโน้มในอนาคต วิธีการนำเสนอใหม่ๆ รวมไปถึงการนำเอากรณีศึกษาของคนไทยมาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมยังช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจและความเข้าใจที่ถูกต้องในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เชื่อว่า การเปิดสถาบันฯ อย่างเป็นทางการในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถรวบรวมวิทยาการได้เป็นจำนวนมาก และจะมีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมหรือเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจำนวน 2-3 หมื่นคนต่อปี เนื่องจากประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ามีการตื่นตัวและโดดเด่นเรื่องนวัตกรรมไม่ต่างจากนานาชาติ ขาดเพียงการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์และการต่อยอดจากระดับประเทศไปสู่สากลเท่านั้น


สถาบันวิทยาการนวัตกรรม จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจ ผู้บริหาร ภาครัฐ-เอกชน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจได้เรียนรู้การยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมสู่ความสำเร็จอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้ความร่วมมือของ สนช. ซึ่งสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ด้านวัตกรรมให้กับองค์กร
เบื้องต้นได้แบ่งการเรียนรู้ของสถาบันออกเป็น 6 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่


1. ผู้สนใจเทคโนโลยี นวัตกรรมกลุ่มเยาวชน นักศึกษา เน้นสร้างการรับรู้ ความรู้สึกอยากเป็นนวัตกร (innovator)
2. กลุ่มผู้ที่อยากประกอบกิจการ และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีไปใช้สร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า
3. กลุ่มผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว และอยากนำองค์ความรู้มาเสริมพัฒนาโครงการหรือสินค้าให้เกิดความโดดเด่นแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในตลาด
4. กลุ่มภาครัฐ-เอกชน ที่ต้องการยกระดับองค์กร อยากให้องค์กรมีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้นวัตกรรมเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคคล ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ
5. กลุ่มผู้นำ ผู้บริหารระดับสูง ทั้งที่เป็นนักลงทุน นักธุรกิจ ระดับ CEO รวมถึงผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารจัดการเมือง ที่เน้นการพัฒนายกระดับความสามารถด้านนวัตกรรม และ
6. กลุ่มผู้ขับเคลื่อนระบบนวัตกรรม เช่น อุทยานนวัตกรรม หน่วยงานสนับสนุนการเงิน หน่วยงานกฎหมาย ซึ่งต้องเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมร่วมกัน


สำหรับประเทศไทยขณะนี้ ถือว่ามีการตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมไม่ต่างจากนานาชาติ และไทยเอง มีความโดดเด่นด้านวัตกรรมงานบริการ ธุรกิจการค้าปลีก การท่องเที่ยว โรงแรม การแพทย์ แต่ในกลุ่มธุรกิจการผลิตไทยเป็นเพียงฐานการผลิต ยังไม่มีความชัดเจนในแง่นวัตกรรม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสพัฒนาและยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมได้จากเรียนรู้สม่ำเสมอ เห็นได้จาก 31 หลักสูตรนวัตกรรมที่รวบรวมในปีแรกๆ มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 12,217 คน จาก 1,626 บริษัท และ 700 สตาร์ทอัพ ส่งเสริมมูลค่าลงทุนราว 2,785 ล้านบาท เชื่อมั่นว่า การเปิดสถาบันฯ อย่างเป็นทางการในระยะเวลา 5 ปี จะรวบรวมวิทยาการได้กว่า 80 หลักสูตร/อบรม/โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ และส่งผลต่อยอดผู้เข้ารับการอบรมหรือเรียนรู้ต่อเนื่องจำนวน 2-3 หมื่นคนต่อปี


สำหรับบุคคลหรือหน่วยงานใดที่สนใจ สามารถติดตามหลักสูตรการยกระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมผ่านทางเว็บไซต์ www.nia.or.th