อ่านที่มาย่าน “ตลาดบ้านจีน” แหล่งโรงรับชำเราบุรุษกรุงศรี ชายอยุธยาไม่มีใครไม่รู้จัก!

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวถึงย่านคนจีนยุคอยุธยา ลงไว้ในมติชนออนไลน์ ในหัวข้อ “ย่านคนจีน ถิ่นไชน่าทาวน์ ยุคอยุธยา” บรรยายไว้ว่า ตลาดของคนจีน ยุคอยุธยา มีหลายแห่ง บอกไว้ในเอกสารจากหอหลวง แต่ที่สำคัญๆ มีตัวอย่างดังนี้

ตลาดใหญ่ท้ายพระนคร เป็นตลาดใหญ่ยิ่งยวดในกรุงอยู่ถนนย่านในไก่ เชิงสะพานประตูจีนไปถึงเชิงสะพานประตูในไก่ มีตึกกว้านร้านจีนตั้งตึกทั้งสองฟากถนนหลวง จีน ไทย นั่งร้านขายสรรพสิ่งของมีเครื่องสำเภา เครื่องทองเหลืองทองขาว กระเบื้อง ถ้วยโถโอชาม มีแพรสีต่างๆ อย่างจีน และไหมสีต่างๆ มีเครื่องมือเหล็กและสรรพเครื่องมาแต่เมืองจีนมีครบ
มีขายของรับประทานเป็นอาหารและผลไม้มาแต่เมืองจีน

ตลาดน้อย อยู่ถนนย่านสามม้า ตั้งแต่เชิงสะพานในไก่ตะวันออกไปถึงบริเวณประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง มีพวกจีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับ และขนมแห้งจีนต่างๆ หลายชนิดหลายอย่าง มีช่างจีนทำโต๊ะ เตียง ตู้ เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างๆ ขาย มีช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้และปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดขาย ทำสรรพเครื่องเหล็กต่างๆ ขาย และรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณตามใจชาวเมืองมาจ้าง

ตลาดวัดท่าราบ อยู่หน้าบ้านเจ้าสัวซี มีตึกแถว 16 ห้อง สองชั้น ที่ชั้นล่างตั้งร้านขายของ ชั้นบนให้คนอยู่

ตลาดบ้านจีน อยู่ปากคลองขุนละคอนไชย (คลองตะเคียน) ที่นี่มีหญิงละครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด