ซีไอเอ็มบี ไทย เดินหน้าแผน FAST FORWARD เล็งใช้ข้อมูลโซเชียลปล่อยกู้เอสเอ็มอี

คุณกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

คุณกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดหมายว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งเติบโตได้ดีจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งภาครัฐกำลังเดินหน้าโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยมุ่งสร้างพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งลงทุนหลักของประเทศ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยรุดหน้าไปเร็วมาก จากการลงทุนเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมดั้งเดิม ที่ยังไม่ตกเทรนด์ และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้มาก ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการผลิตขยายตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นห่วงโซ่อุปทานให้ธุรกิจขนาดใหญ่ การลงทุนจะฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้น เกิดการกระจายตัวมากขึ้น ดึงให้ความเชื่อมั่นสูงขึ้นและผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดีขึ้นอย่างชัดเจน

คุณกิตติพันธ์  เผยว่า ผลประกอบการของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในปี 2560 โดยภาพรวมถือว่าน่าพอใจ ธนาคารมีอัตราเติบโตของสินเชื่อ 3.2 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กำไรก่อนหักสำรองของปี 2560 ปรับเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ จาก 5,500 ล้านบาท เป็น 5,700 ล้านบาท ส่วนปี 2561 คาดว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะเติบโตต่อเนื่อง จากอานิสงส์ของเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ทำให้การเติบโตจะค่อยๆ เป็นบวกมากขึ้น แม้จะไม่ดีขึ้นแบบทันทีทันใด แต่จะดีขึ้นเป็นลำดับ

ธนาคารเชื่อมั่นว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารทำผลงานได้ดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน และปี 2561-2562 นับเป็นก้าวแรกของโครงการ FAST FORWARD คือ การเดินหน้าสู่เป้าหมายของการก้าวขึ้นเป็นธนาคารระดับกลางที่แข็งแกร่งที่สุดด้านอาเซียนในประเทศไทย หลังจากปี 2560 ได้มีการปรับฐานและปรับกระบวนการวิธีการทำงาน โดยจะเดินหน้าทำต่อเนื่องในปีนี้ รวมถึงเพิ่มอัตรากำลังในธุรกิจที่ธนาคารมีศักยภาพ เช่น ในด้านธุรกิจรายย่อย ธนาคารทำได้ดีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารจะเดินหน้าบุกตลาดนี้ต่อไป ส่วนธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ธนาคารจะส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความสามารถหรือพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนผลักดันลูกค้าให้เป็น Smart SME แม้ในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเผชิญภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย แต่คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ภาพรวมตลาดจะกลับมาสดใสอีกครั้ง

คุณกิตติพันธ์ กล่าวว่า ในปี 2561 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้เข้าสู่โครงการ FAST FORWARD เต็มตัว และจะทยอยทำตามแผนที่วางเอาไว้ตลอดปีนี้และปีหน้า โดยมีกว่า 200 โครงการที่ต้องทำเพื่อให้ธนาคารมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น แม้อาจไม่เห็นกำไรที่พุ่งขึ้นทันที แต่การปรับฐานอย่างต่อเนื่องจะเริ่มเห็นผลชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นไป

คุณวรีมน นิยมไทย

คุณวรีมน นิยมไทย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยถึงการพัฒนาด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีว่า ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาระบบ และกระบวนการทำงานที่จะสนับสนุน ส่งเสริมลูกค้าเอสเอ็มอีให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการพิจารณาฐานข้อมูลของลูกค้าที่มีความหลากหลาย เพื่อสามารถพิจารณาคุณสมบัติของลูกค้าให้ได้ดีมากขึ้น (Alternative Data) โดยเฉพาะข้อมูลของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในยุคปัจจุบัน จะมีผลในการช่วยวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า หรือไซโคเมตริก (Psychometric) เช่น การพิจารณาจากสังคมโซเชียล ข้อมูลการปฏิบัติกับลูกค้า คำติชมบริการที่ผ่านทางเฟซบุ๊ก เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยวิเคราะห์ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ และความกระตือรือร้นต่อการทำธุรกิจ และจะมีผลต่อการดำเนินกิจการโดยตรง

ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลดังกล่าว ซึ่งคาดว่า น่าจะนำมาใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีได้ภายในปีนี้ โดยฐานข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีข้อมูลฐานะการเงินไม่ดี หมดโอกาสได้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน สามารถได้รับการพิจารณาอีกครั้ง หากฐานข้อมูลใหม่บ่งบอกว่า เป็นลูกค้าที่มีความซื่อสัตย์ เอาใจใส่กับการให้บริการอย่างแท้จริง