สบายใจได้! กรมประมงมั่นใจปลาดิบฟุกุชิมะผ่านมาตรฐาน อย. ลั่นไทยไม่กีดกันสินค้าญี่ปุ่น

นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรณีข่าวที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นชาติแรกที่มีการนำเข้าปลา จากเมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดแผ่นดินไหวแล้วสึนามิถล่มเมื่อปี 2554 จนทำให้กัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์รั่วไหลลงในน้ำ ในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น จากการตรวจสอบด่านนำเข้า พบว่า ปลาที่นำเข้ามาเป็นปลาตระกูลซีกเดียว และลิ้นหมา จำนวน 130 กิโลกรัม(กก.) ซึ่งกรมประมงยืนยันว่า ก่อนจะนำเข้าปลาจาก เมืองฟุกุชิมะ จะผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสอบเรื่องปริมาณสารกัมมันตรังสีในอาหารตามประกาศของกระทรวงทุกครั้ง

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีปีพ.ศ. 2554 ระบุว่า สินค้าที่นำเข้ามาต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองฯ ระบุปริมาณไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด และอย.เป็นผู้สุ่มตรวจควบคุม โดยกำหนดให้ตรวจปริมาณการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร 3 ชนิดคือ ไอโอดีน 131 จะต้องไม่เกิน 100 เบคเคอเรล ต่อ กก. ซีเซียม 137 และซีเซียม 134 รวมกัน ไม่เกิน 500 เบคเคอเรล ต่อ กก.

นอกจากนี้ผู้นําเข้าอาหาร ต้องจัดให้มีหลักฐานระบุปริมาณกัมมันตรังสีและพื้นที่ที่ผลิตอาหาร จากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกําเนิด หรือจากหน่วยงานอื่นที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกําเนิด ตามมาตรฐานสากล แสดงที่ด่านนําเขาทุกครั้งที่นําเข้า

 

“ที่ผ่านมาไทยไม่เคยกีดกันสินค้าประมงจากญี่ปุ่น และเรื่องประเทศไทยนำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะเป็นชาติแรกไหม ไม่สามารถตอบได้เพราะไทยนำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะมานานแล้ว โดยที่ผ่านมาก็มีการตรวจสอบจากด่านกรมศุลกากรและ อย. ทุกครั้งว่าปริมาณสารกัมมันตรังสีเกินกว่าที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เกิน สินค้าเหล่านั้นก็สามารถนำเข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม กรมประมงมีหน้าที่ตรวจสอบตามใบขนส่งสินค้าที่ระบุว่าเป็นสินค้าประมงเท่านั้น ถ้าใบขนส่งสินค้าไม่ได้ระบุว่าเป็นสินค้าประมง เจ้าหน้าที่ของกรมประมงก็เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ คนที่ตรวจสอบคือเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร”

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์