วิกฤตสินค้าเกษตร รัฐต้องแก้ให้ถูกจุด

หลังเผชิญภัยแล้งที่ค่อนข้างสาหัสมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาฝนเริ่มกลับมาอีกครั้ง เกษตรกรไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ ที่ฝากความหวังจากการปลูกพืชเศรษฐกิจขายมาแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูง เริ่มเผชิญลางร้ายที่มาเยือนไม่ต่างจากภัยแล้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังพืชเศรษฐกิจหลักราคาทรุดหนัก เกษตรกรได้ร้องเรียนภาครัฐมานานหลายเดือนแล้ว แต่การแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องเกษตรกรของหน่วยงานรัฐกลับล่าช้าและไม่ตรงจุดที่ควรจะต้องรีบแก้ไข

ขณะที่นายอภิศักดิ์ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเริ่มวิตกเมื่อพบสัญญาเศรษฐกิจในเดือนกันยายนนี้เริ่มอ่อนตัว อาทิ ยอดขายปูนซีเมนต์ ยอดขายรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งลดลง ทำให้เห็นว่าการบริโภคเริ่มลดลง จะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้รัฐมีมาตรการไปยังภาคเกษตรมากพอสมควร รวมทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนัดถกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เร่งปั๊มกำลังซื้อในประเทศ หลังจากการส่งออกสินค้าทำได้แค่ประคองตัว โดยเตรียมหามาตรการดันราคาสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อให้กับเกษตรกร

ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรหลักของรัฐ ได้แก่ข้าว กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการร่วมกันกำหนดการผลิตในปีนี้ โดยจำกัดการผลิตไว้ที่ 27 ล้านตันข้าวเปลือก ถือว่านโยบายดังกล่าวเดินมาถูกทาง จากปกติที่ผลิตเกิน 30 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปีค่อนข้างมาก และพยายามให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยหลังฤดูนาปีแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ปลูกถั่วเหลือง จากปัญหาน้ำที่จะใช้ในภาคเกษตรช่วงฤดูแล้งยังมีน้อย รวมทั้งราคาข้าวในตลาดโลกค่อนข้างตกต่ำ ปลูกแล้วขายมีกำไรอยู่ในระดับเฉลี่ยตันละ 2,000-3,000 บาทเท่านั้น

แต่นโยบายของภาครัฐให้เกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อาจล้มเหลว เมื่อกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเอทานอล (DDGS) เพื่อผลิตอาหารสัตว์โดยไม่มีการจำกัดปริมาณนำเข้าในอัตราภาษีต่ำ โดยในปี 2556 มีการนำเข้าข้าวสาลีและ DDGS เข้ามา 810,424.29 ตันและ 226,176.11 ตัน ตามลำดับ มาเป็น 3,467,117.12 ตันและ 462,347.33 ตันในปี 2558 ตามลำดับ และในไตรมาสแรกปี 2559 มีการนำเข้าถึง 777,276.87 ตันและ 166,471.02 ตัน ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ก็มีข้อมูลความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการผลิต 5.6-6 ล้านตันต่อปี ในสัดส่วนการใช้ข้าวโพดในอาหารสัตว์ประมาณ 60-65% แต่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียง 4.5 ล้านตันต่อปี ดังนั้น ต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาทดแทนการใช้ข้าวโพดประมาณ 2.6 ล้านตัน แต่ในความเป็นจริงในปี 2558 ผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดรวม 3.9 ล้านตัน

แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหันไปพึ่งพาวัตถุดิบในการผลิตจากต่างประเทศมากขึ้นมีการลดสัดส่วนการใช้ข้าวโพดในประเทศเพื่อผลิตอาหารสัตว์ไปไม่น้อยทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด4.5แสนครัวเรือนเดือดร้อนหนักจากราคาข้าวโพดตกต่ำในขณะนี้ เช่น ที่เชียงรายเกษตรกรสีข้าวโพดขายสดได้เพียง กก.ละ 4.20 บาท จากต้นทุนการผลิต กก.ละ 4.40 บาท ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ราคาตกต่ำเหลือเพียง กก.ละ 1.20 บาท จากต้นทุนการผลิต 1.80 บาทขึ้นไป และรำข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าข้าวสาลีด้วย

ที่ผ่านมามีการใช้มันสำปะหลังในประเทศผสมอาหารสัตว์ไม่ต่ำกว่า2ล้านตันต่อปีและมีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ต่ำกว่าปีละ1 ล้านตัน การจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด หากราคาข้าวโพดในประเทศสูงเกินไป ก็สามารถนำเข้าเป็นครั้งคราวได้ ซึ่งการรักษาสมดุลระหว่างเกษตรกรกับผู้เลี้ยงสัตว์ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เศรษฐกิจของประเทศนั่นคือการฟื้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศจะดีขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ต่างจากทุกวันนี้ที่เกษตรกรต่างชาติได้ประโยชน์ รวมทั้งบริษัทปศุสัตว์ครบวงจรล้วนมีกำไรพุ่งสูงกันถ้วนหน้า ดั่งที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดังนั้น หากรัฐหยิบยืมทฤษฎี 2 สูงของเจ้าสัวมาใช้ ทั้งการดึงราคาสินค้าเกษตรสูง และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัดแนะนำมาใช้น่าจะเป็นทางออกที่ดี โดยที่รัฐไม่ต้องอัดฉีดเงินเข้ามา ต้องให้เอกชนผู้ประกอบการเข้ามาช่วยเหลือกอบกู้เศรษฐกิจด้วย

เพราะการเดิน 2 ขาไปข้างหน้าด้วยกันทั้งฟากรัฐและเอกชน ย่อมมั่นคงและยั่งยืนกว่าอย่างแน่นอน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ