เตือนพิษสุนัขบ้าระบาดมากกว่าปีก่อน 2 เท่า ย้ำคนโดนกัดต้องไปฉีดวัคซีนให้ครบ!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรมปศุสัตว์ ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 13 จังหวัด ซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดง เพราะอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง คือ จ.สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังโรคระบาดพิษสุนัขบ้าในอีก 42 จังหวัด ซึ่งจัดให้อยู่ในพื้นที่สีเหลือง ปรากฏว่าในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลถึงปัญหาการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ว่ามีการทักท้วงการใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เนื่องจากไม่ใช่ภารกิจของท้องถิ่น และหากทำจะขัดต่อกฎหมาย จนส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักการซื้อวัคซีนฉีดสุนัขเพื่อป้องกันโรค จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เห็นได้จากช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2561 พบหัวสุนัขที่มีเชื้อบวก หรือเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า อย่างปี 2560 เฉพาะเดือนมกราคมพบหัวสุนัขเชื้อบวกจำนวน 81 ตัว ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 พบหัวสุนัขเชื้อบวก 79 ตัว ส่วนปี 2561 ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์พบหัวสุนัขมีเชื้อบวกจำนวน 155 และ 160 ตัวตามลำดับ ซึ่งจำนวนที่เพิ่มขึ้นแสดงว่ามีการค้นหามากขึ้น ประกอบกับปัญหาเรื่องการฉีดวัคซีนในสุนัขมีข้อจำกัดทำให้พบมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ จะประกาศว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงน้อยเสี่ยงสูง ซึ่งหากเสี่ยงน้อยก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในสัตว์เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทุก 3 ปี แต่หากประเทศไหนเสี่ยงสูงต้องฉีดวัคซีนทุกปี ซึ่งประเทศไทยจัดในกลุ่มเสี่ยงสูง แต่ที่ผ่านมาก็ติดขัดเรื่องวัคซีน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อจำกัดในการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าของท้องถิ่น เพราะถูกสตง.ทักท้วงห้ามใช้งบฯในการสั่งซื้อวัคซีนเพราะไม่ใช่ภารกิจ นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวว่า เดิมทีสตง.มองเช่นนั้นจริง อาจเพราะไม่เข้าใจตัวกฎหมายที่มุ่งเน้นให้หลายภาคส่วนช่วยกันขจัดปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป โดยเข้าใจว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในปี 2561 สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทยได้ผลักดันจนมีประกาศให้ท้องถิ่นสามารถซื้อวัคซีนมาฉีดในสุนัข เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

“แม้ขณะนี้จะผ่อนคลายลงได้ แต่ก็ยังต้องสร้างความตระหนักให้กับบุคลากรในพื้นที่ที่ยังไม่เข้าใจ และยังมองว่าไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แค่ในส่วนของการฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมวเท่านั้น แต่ในส่วนของคนที่ถูกกัดก็ต้องฉีดวัคซีนให้ครบด้วย เพราะข้อมูลปี 2560 พบ เสียชีวิตไป 11 ราย แต่มีเพียง 1 ราย ที่ฉีดวัคซีน แต่ฉีดไม่ครบ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากติดเชื้อแล้วไม่ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบก็ต้องเสียชีวิต 100 เปอร์เซ็นต์ ” นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ คนเลี้ยงสุนัขก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเลี้ยงแบบปิดและพาไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าจากการตรวจสอบหัวสุนัขที่มีเชื้อบวก พบว่าเป็นสุนัขเลี้ยงถึงร้อยละ 54.87 เป็นสุนัขจรจัดร้อยละ 35.8 นอกนั้นไม่ทราบประวัติ

นสพ.พรพิทักษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เมื่อพบพื้นที่ไหนเสี่ยงก็จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ไปเคาะประตูบ้านต่างๆเพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคและสัตว์เลี้ยงมารับวัคซีน ที่สำคัญยังรัฐบาลยังมีคำสั่งที่ 214/51 มีการตั้งอนุกรรมการต่างๆในการทำงานตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยมีพระปณิธานให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2563 ตามพันธสัญญากับองค์การอนามัยโลก

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์