ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สองพี่น้องชาวหมู่ที่ 4 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง นายปฏิพัฒน์ สัจบุตร วัย 37 ปี และนายณัฐพงษ์ สัจบุตร วัย 33 ปี คนรุ่นใหม่ที่ช่วยกันสืบสาน “มโนราห์” หรือ “โนราห์” ศิลปะ วัฒนธรรมชื่อดังของภาคใต้ ซึ่งสืบทอดมาจาก นายประเทือง สัจบุตร ผู้เป็นพ่อ ด้วยการประดิษฐ์ส่วนประกอบต่างๆ ของการแสดง โดยเฉพาะ “เทริด” ซึ่งเป็นเครื่องประดับศีรษะของมโนราห์ หลังจากนั้นหันมาทำ “หน้าพราน” หรือหน้ากากตัวตลกชายของมโนราห์ เพื่อใช้ในการแสดง ก่อนที่จะดัดแปลงมาทำ “หน้าพรานจิ๋ว” ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 10 เท่า เพื่อใช้สำหรับการห้อยกับสร้อยคอ หน้ารถ หรือขึ้นหิ้งบูชาในฐานะเครื่องรางของขลัง จนได้รับความนิยมไปทั่วทั้งภาคใต้
ล่าสุดได้ดัดแปลงมาทำ “เทริดจิ๋ว” ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 5 เท่า หรือสูง 19 ซม. หนัก 200 กรัม ขณะที่เทริดใหญ่ ซึ่งใช้สวมใส่ในการแสดงสูง 59 ซม. หนัก 1.5 กิโลกรัม จนทำให้ “เทริดจิ๋ว” ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน จากชาวภาคใต้ที่มีความศรัทธาในเรื่องของ “มโนราห์” รวมทั้งชาวภาคกลางบางส่วน จนมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นงานฝีมือที่ประดิษฐ์ออกมาได้อย่างสวยงาม โดย “เทริดจิ๋ว” จะมีราคาชิ้นละ 1,500 บาท ใช้เวลาในการทำประมาณ 4 วัน ส่วนเทริดใหญ่ ราคาชิ้นละ 3,500 บาทขึ้นไป แล้วแต่รูปแบบ ใช้เวลาในการทำประมาณ 7 วัน
นายปฏิพัฒน์ กล่าวว่า การประดิษฐ์ “เทริดจิ๋ว” จะนิยมใช้ไม้ทองหลาง เนื่องจากเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง และค่อนข้างหายาก มีคุณสมบัติเด่นคือ น้ำหนักเบา โดยจะเริ่มจากการกลึงเพื่อทำเพดาน และยอดเทริด แล้วนำแผ่นพลาสติกมาติดไว้โดยรอบ เพราะง่ายต่อการติดตั้ง และเสร็จรวดเร็วกว่าการใช้แผ่นไม้ไผ่ เหมือนกับเทริดใหญ่ ก่อนเชื่อมด้วยกาว แล้วตากแดดจัดๆ จนแห้ง ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นตัดแต่งหน้าเทริด ใส่หู ใส่เกล็ด หรือส่วนแหลมๆ บนเทริด ที่มีลักษณะคล้ายกับเส้นผม นำมาพอกด้วยชัน แกะลายกนก ลงสีพื้น ต่อด้วยสีทอง และแต้มตัดด้วยสีแดงในบางจุดเพื่อให้แลดูสวยงามยิ่งขึ้น ก่อนติดพลอย กากเพชร ใส่ฐาน ลงสีประกอบ และติดไหมพรม ซึ่งหากเป็นเทริดปกติ จะใช้ด้ายมงคลโรงครูหมอโนราห์
นายปฏิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งของ “เทริดจิ๋ว” และเหมือนกับเทริดใหญ่ ก็คือ การติดลูกแก้วบนส่วนยอด ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจ.ตรัง โดย “เทริดจิ๋ว” ที่ประดิษฐ์เสร็จสิ้นแล้ว สามารถนำไปเข้าพิธีกรรมไหว้ครูมโนราห์ เพื่อเพิ่มความเป็นมงคล หรือจะนำไปติดตั้งหน้ารถ หรือขึ้นหิ้งบูชาเลยก็ได้ตามใจชอบ ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้ “เทริดจิ๋ว” ออกมาได้สวยงามเหมือนกับเทริดใหญ่ เนื่องจากทุกวันนี้ทั้งสองยังคงใช้เวลาว่างไปรำมโนราห์อย่างต่อเนื่อง ในนาม “ณัฐพงษ์ ประเสริฐศิลป์” พร้อมทั้งสืบเชื้อสายมโนราห์มาจากนายโรงมโนราห์ชื่อดัง อย่าง “มโนราห์ทองใบ ใจดี ประเสริฐศิลป์” จึงเกิดแรงศรัทธาในการประดิษฐ์ “เทริดจิ๋ว” ให้ออกมาจากใจได้อย่างยอดเยี่ยม
นายปฏิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่าว่า ล่าสุดส่วนประกอบต่างๆ ของการแสดงจาก “มโนราห์” โดยเฉพาะเทริดใหญ่ “เทริดจิ๋ว” หน้าพรานใหญ่ และ “หน้าพรานจิ๋ว” กำลังได้รับความนิยมในท้องตลาดมากขึ้น ทั้งในภาคใต้เอง หรือภาคอื่น รวมทั้งในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย เนื่องจากเป็นงานฝีมือสวยงาม จนสร้างยอดขายให้ถึงเดือนละประมาณ 6 หมื่นบาท ขณะที่การทำตลาดก็มีทั้งการบอกกันแบบปากต่อปากของลูกค้า และการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเพียงแค่ครอบครัวนี้ได้หันมาประดิษฐ์ส่วนประกอบต่างๆ ของการแสดง “มโนราห์” ประมาณ 5 ปี ก็สามารถสร้างชื่อ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความเป็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นใต้ ให้เป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ (099) 823-4898
ที่มา ข่าวสดออนไลน์