คำนวณ ‘เงิน’ ต้องใช้ ‘วัยเกษียณ’

เพราะเชื่อว่าการมีเงินใช้ในวัยเกษียณ ก็ถือเป็นการเตรียมพร้อมสังคมสูงวัยที่สำคัญ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดงานผู้สูงอายุไทย ก้าวไกลไทยแลนด์ 4.0 นวัตกรรมความรู้ทางการเงินเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลท. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดี ผส. เผยว่า จากสถิติของบริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร พบว่า กลุ่มคนวัยเริ่มต้นทำงานใหม่ หรือคนเจนวาย ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มเป็นหนี้บัตรเครดิตและใช้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้เสียเร็วขึ้นด้วย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มคนวัยนี้อาจมีการยับยั้งชั่งใจน้อย ส่งผลกระทบต่อการเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ จึงได้ร่วมกับภาคเอกชนรณรงค์สร้างความตระหนักและทำให้เกิดการออมในคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในปี 2561 จะดำเนินการขยายความรู้ และความร่วมมือไปยังเครือข่ายผู้สูงอายุ 400 แห่งทั่วประเทศ

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ

ภายในงานยังมีชุดนิทรรศการและคู่มือให้ความรู้จัดทำโดย ตลท. โดยแนะนำ 6 ขั้นตอนการสร้างสุขวัยเกษียณ ดังนี้ 1.ให้กำหนดเป้าหมายและอายุที่ต้องการเกษียณ เพื่อจะรู้ว่าเรามีเวลาเตรียมตัวเท่าไหร่ และประมาณการว่าจะสิ้นอายุขัยเท่าไหร่
2.คำนวณเงินต้องใช้ในวัยเกษียณอายุ ซึ่งพบว่า 
หากอยากมีเงินใช้ 15,000 บาทต่อเดือน หลังเกษียณอายุไป 20 ปี คำนวณพร้อมอัตราเงินเฟ้อ 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จะต้องเตรียมเงินขั้นต่ำไว้ที่ 4.3 ล้านบาท
3.คำนวณเงินออมที่มี ไม่ว่าจะกองทุนประกันสังคม เงินออมและเงินลงทุนรูปแบบต่างๆ เพื่อเช็กว่าเรามีเงินออมทั้งหมดเท่าไหร่  4.คำนวณเงินออมที่ต้องเพิ่มเพื่อวัยเกษียณ โดยนำเงินที่ต้องใช้หักด้วยเงินออมที่มี ก็จะทราบว่าเงินเพียงพอหรือไม่ ต้องหาเพิ่มเท่าไหร่   5.กำหนดแนวทางการออมและลงทุน โดยให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อลดใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ออมต่อเนื่อง โดยมีแผนที่ชัดเจนและต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  6.ทบทวนและปรับปรุงแผนการออมและลงทุนสม่ำเสมอ อาจจะทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อดูว่าสามารถออมได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ปัญหา อุปสรรค

เพื่อให้การเดินทางไปยังเป้าหมายเกษียณใกล้เคียงความจริงมากที่สุด สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม www.set.or.th/set/education/main.do