ปิดขึ้นทะเบียนบัตรเฟส 2 คนจนแห่ลงชื่อ 6.2 ล้านคน คลังเร่งส่งทีมช่วยอบรม

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ปิดรับสมัครแจ้งความประสงค์เข้าโครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนรอบสอง ซึ่งปิดวันที่ 28 ก.พ. 2561 แล้ว โดยเบื้องต้นมียอดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แจ้งความประสงค์สมัครผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 6.2 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 11.4 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.3 ล้านคน

ทั้งนี้ หลังจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 6.2 ล้านคน จะเริ่มเข้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีทีมหมอประชารัฐสุขใจกว่า 4,000 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปให้คำปรึกษา และเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาความยากจน พร้อมทั้งได้รับการเติมเงินเข้าในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 100-200 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นไป จนถึงเดือนธ.ค. 2561 โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ที่เข้าโครงการระยะสอง 3 ล้านคน จะได้รับเงินเพิ่มจากเดือนละ 300 บาท เป็น 500 บาท ส่วนผู้มีรายได้ต่อปี 30,000-100,000 บาท อีกประมาณ 3 ล้านคน จะได้รับเพิ่มจากเดือนละ 200 บาท เป็น 300 บาท

ขณะเดียวกันในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2561 กระทรวงการคลังจะส่งทีมหมอประชารัฐสุขใจ ลงพื้นที่เพิ่มเติมไปติดตามเคาะประตู บ้านผู้ถือบัตรสวัสดิการฯที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และไม่มาแจ้งความประสงค์เข้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีก 2.3 ล้านคน เพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมโครงการทั้งหมด เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการแก้ปัญหาให้ทุกคนมีงานมีรายได้หลุดพ้นจากเส้นความยากจน โดยจะมีการสอบถามสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เข้าร่วมโครงการ หากเป็นผู้พิการ ผู้สูงวัย หรือมีการเจ็บป่วยก็จะไม่บังคับ แต่หากเป็นคนปกติก็จะแยกบัญชีออกมาต่างหากว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

สำหรับจังหวัดที่มีผู้เข้าร่วมโครงการบัตรคนจนระยะสอง ส่วนมากมาจากภาคอีสานและภาคเหนือมีสัดส่วนมากกว่า 60-80% โดย จ.กาฬสินธุ์ มีผู้เข้าร่วมมากสุดเกิน 80% หรือมากกว่า 2 แสนคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ 2.48 แสนคน รองลงมาเป็น จ.เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด นครพนม ส่วนจังหวัดที่มาลงทะเบียนน้อยสุดมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนแค่ 4-7% ของผู้ได้สิทธิ โดยกรุงเทพฯ มาสมัครเพียง 2 หมื่นคน สัดส่วนแค่ 4% จากผู้มีสิทธิ 5.35 แสนคน สมุทรปราการ สมัคร 6,000 คน จาก 1.26 แสนคน นนทบุรี สมัคร 5.5 พันคน จากผู้มีสิทธิ 1.16 แสนคน สมุทรสาคร สมัคร 3-4 พันคน จาก 6.5 หมื่นคน สมุทรสงคราม 1.7 พันคน จาก 2.6 หมื่นคน