ธุรกิจ “กาแฟดอยช้าง” ฉลุย มุ่งขยาย 200 สาขาในปี’65

เอาจริง - บริษัท กาแฟดอยช้าง ออริจินัล จำกัด ขู่ดำเนินคดีกับผู้ฉวยโอกาสนำเมล็ด กาแฟจากแหลง่ ผลิตอื่นมาจำหน่ายโดยละเมิดเครื่องหมายการค้าและเครื่องจีไอดอยช้าง จนสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟดอยช้าง

ดอยช้างคอฟฟี่ เผยแผนปี’61 จับมือ ธ.ก.ส.ผุด 30 สาขาแฟรนไชส์กระจายในสาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ ตั้งเป้า 200 สาขาในปี”65 ขู่เอาจริงปราบละเมิดเครื่องหมายการค้า-GI พุ่ง 100% หวั่นกระทบความมั่นใจ

นายปณชัย พิสัยเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟดอยช้าง ออริจินัล จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางธุรกิจกาแฟในประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทวางเป้าหมายการขยายแฟรนไชส์ในประเทศให้ได้ 200 สาขา ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2565 จากปัจจุบันที่มีประมาณ 50 สาขา โดยในปีนี้ได้ลงนามความร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในเพื่อจะขยายสาขาร้านกาแฟดอยช้าง เข้าไปจำหน่ายในสาขาของธนาคาร ประมาณ 30-40 สาขา และขยายสาขารูปแบบร้านสแตนด์อะโลนอีก 20 สาขา เพื่อกระจายการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

ส่วนแผนการขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ในปีนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ โดยปัจจุบันร้านกาแฟดอยช้างมีที่ญี่ปุ่น 2 สาขา เกาหลีมี 30 กว่าสาขา

อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาร้านแฟรนไชส์ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพกาแฟด้วย เพราะหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศขึ้นทะเบียนกาแฟดอยช้าง ซึ่งปลูกบริเวณหุบเขาดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ของประเทศไทย เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความนิยมกาแฟดอยช้างเพิ่มขึ้น จนมีผู้ฉวยโอกาสนำเมล็ดกาแฟจากแหล่งผลิตอื่นมาจำหน่ายในร้านที่ติดแบรนด์ดอยช้างในราคา กก.ละ 100-500 บาท ขณะที่กาแฟดอยช้าง ราคา กก.ละ 1,000 บาท ทำให้ยอดในตลาดถึง 4,000-5,000 ตัน

ทั้งที่โดยปกติดอยช้างปลูกได้เพียง 1,000-2,000 ตัน ทางบริษัททำหนังสือเตือนร้านค้าดังกล่าว ขอให้ยุติพฤติกรรมไม่เช่นนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป พร้อมประสานกับกระทรวงพาณิชย์แก้ไขปัญหาเพราะในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจผู้บริโภค จนกระทบต่อผู้ปลูกกาแฟในเครือข่ายด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันกาแฟดอยช้างจำหน่ายในตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ สัดส่วน 50 : 50 โดยตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี แคนาดา อเมริกา และสหภาพยุโรป โดยแบ่งเป็นกาแฟคั่ว 50% และกาแฟสารอีก 50%

พร้อมกันนี้ บริษัทกำลังศึกษาแนวทางที่จะเพิ่มผลผลิตกาแฟต่อไร่ให้เพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบัน อยู่ที่ 100 กก.ต่อไร่ เพราะพื้นที่ได้รับการจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2545 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขาลดการปลูกฝิ่น 30,000 ไร่ ไม่สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้

นายปณชัย ยอมรับว่าปัจจุบันรับซื้อกาแฟเชอรี่จากเกษตรกร กก.ละ 18 บาท จากจากปีก่อน ที่ กก.ละ 22-25 บาท ส่วนราคากาแฟสารปัจจุบันไม่ถึง กก.ละ80 บาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากฝนตกทำให้คุณภาพวัตถุดิบลดลง อีกทั้งการเก็บเมล็ดกาแฟต้องใช้แรงงานเป็นหลักไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ การขึ้นค่าแรงทำให้ต้นทุนการเก็บกาแฟไทยอยู่ที่ กก.ละ 6 บาท ขณะที่เพื่อนบ้านที่อยู่ที่ กก.ละ 2 บาท ทำให้กาแฟไทยเสียเปรียบต่างประเทศ