สาธารณสุขเตือนปลาปักเป้าพิษร้ายแรงหลังพบชาวประมงกินแล้วตาย

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่านพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ลูกเรือประมงเสียชีวิตหลังรับประทานไข่ปลาปักเป้า 2 ราย และมีอาการสาหัส 1 ราย โดยรับรักษาตัวที่โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานผู้ป่วยมีอาการจากพิษปลาปักเป้าจากปลาปักเป้าน้ำเค็มและปลาปักเป้าน้ำจืด จำนวนเหตุการณ์ 6 ครั้งในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นผู้ป่วย 17 ราย เและผู้เสียชีวิต 5 ราย

ปลาปักเป้ามีพิษที่ชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งจะอยู่ในอวัยวะภายใน ทั้งตับ สำไส้ หนังปลา และไข่ปลาซึ่งเป็นส่วนที่มีพิษมากที่สุดคือ ที่สำคัญคือพิษปลาปักเป้าทนความร้อนสูงมาก และความเค็มจากการแปรรูปเป็นปลาร้าก็ไม่สามารถทำลายพิษได้เช่นกัน ประชาชนจึงไม่ควรรับประทานปลาปักเป้า เพราะมีพิษร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนสังเกตเนื้อปลาแล่เป็นชิ้นที่จำหน่ายในตลาด อาจมีเนื้อปลาปักเป้าปะปนอยู่ โดยลักษณะเนื้อคล้ายสันไก่ ซึ่งพิษของปลาปักเป้าจะออกฤทธิ์หลังรับประทานไปแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ชาที่ลิ้นและริมฝีปากแล้วลามถึงไปหน้าและแขนขา จากนั้นจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนเพลียจนร่างกายเป็นอัมพาต ต่อด้วยการหายใจล้มเหลว ทำให้อาจเสียชีวิตได้ภายใน 4-6 ชั่วโมง ทั้งนี้ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป หากเริ่มมีอาการจากพิษเบื้องต้นจะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มียาแก้พิษหรือยารักษาเฉพาะ

นอกจากนี้ยังพบผู้ได้รับพิษจากการกินไข่แมงดาทะเลที่เป็นแมงดาถ้วย ในรอบ 5 ปีนี้ พบผู้ป่วย 33 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งแมงดาถ้วยมีพิษชนิดเดียวกับปลาปักเป้า ซึ่งเกิดจากการกินตัวแพลงก์ตอนที่มีพิษหรือกินหอยหรือหนอนที่มีแพลงก์พิษเ ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วยหรือพิษเกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ของแมงดาถ้วย นพ.โอภาสจึงขอย้ำเตือนให้ระมัดระวังในการกินไข่แมงดาในช่วงนี้ ซึ่งพบว่าช่วง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนของทุกปีจะมีการแพร่พันธุ์ของแพลงก์พิษจำนวนมาก