เก็บภาษีมลพิษจยย. สรรพสามิตชง เพิ่มคันละ250

กรมสรรพสามิตจ่อเก็บภาษีมลพิษจากจยย.เพิ่มคันละ 150-250 บาท เชื่อไม่กระทบราคาขายปลีกผู้ซื้อผู้ขับขี่ เหตุภาระภาษีเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 % ของราคาขายปลีก คาดจากการขยายฐานภาษีใหม่ปี 64 สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 8 แสนล้านบาท ด้านอธิบดีกรมสรรพสามิตเล็งจัดเก็บภาษีขยะอิเล็กทรอนิกส์-สินค้าเป็นขยะย่อยสลายยาก

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาจัดเก็บภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ เหมือนกับเก็บภาษีรถยนต์ เนื่องจากมอเตอร์ไซค์จำหน่ายจำนวนมาก จึงสร้างมลพิษกับสภาพอากาศ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตได้เก็บภาษีรถยนต์ตามค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยยึดตามหลักการที่ว่าหากปล่อยมลพิษเยอะจะเรียกภาษีสูงขึ้น

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังศึกษาเก็บภาษีสรรพสามิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะดูเชื้อเพลิงในการผลิตที่ทำให้เกิดมลพิษ เช่น ถ่านหิน เก็บภาษีสรรพสามิตที่ทำให้น้ำและอากาศเกิดมลพิษ รวมถึงสินค้าที่ใช้แล้ว กลายเป็นขยะย่อยสลายยาก ผู้ต้องจ่ายภาษีคือ เจ้าของสินค้าหรือโรงงานผู้ผลิต ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารัฐบาลต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก เพื่อกำจัดขยะและแก้ไขมลพิษที่เกิดจากการปล่อยของเสียมาก โดยกรมสรรพสามิตคาดว่าจากการขยายฐานภาษีใหม่จะทำให้ในปีงบประมาณ 2564 สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 8 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิตเผยว่า กรมสรรพสามิตคาดว่าการพิจารณาจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะทำให้มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นคันละ 150-250 บาท โดยไม่น่าจะส่งผล กระทบต่อการเพิ่มราคาขายปลีกรถจักรยานยนต์ ทำให้ผู้บริโภคและผู้มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผู้ผลิตอาจเลือกรับภาระภาษีไว้เอง

“การศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์พบว่า ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ที่ใช้ในประเทศ 80 % เป็นรถจักรยานยนต์มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 150 ซีซี มีราคาขายปลีกประมาณ 30,000-50,000 บาทต่อคัน ซึ่งมีภาระภาษีสรรพสามิต 750-1,250 บาทต่อคัน แต่หากจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.5 % ของราคาขายปลีก หรือมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 150-250 บาทต่อคัน”

ทั้งนี้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามหลักการความฟุ่มเฟือย โดยแบ่งประเภทอัตราภาษีตามขนาดความจุของกระบอกสูบ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวคิดจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นไปตามหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม และจะส่งผลดีต่อการสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบอุตสาหกรรมในประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีรถจักรยาน ยนต์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น