กรุงเทพฯ-ปริมณฑลยังมีร่องฝน กทม.หวั่นล้นตลิ่ง เร่งพร่องน้ำในคลองสายหลัก

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรียกประชุมผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เกี่ยวข้อง หารือเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในช่วงวันที่ 28-30 กันยายนนี้ จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และในช่วงวันที่ 1–4 ตุลาคม จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะทำให้บริเวณภาคกลางยังคงมีฝนตกโดยทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่ง

นายภัทรุตม์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำในคลองสายหลักหลายแห่งอยู่ในภาวะวิกฤต น้ำใกล้ล้นตลิ่ง เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักต่อเนื่อง เช่น คลองเปรมประชากร ช่วงพื้นที่เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง คลองแสนแสบช่วงพื้นที่เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี คลองประเวศบุรีรมย์ช่วงพื้นที่เขตลาดกระบัง คลองบางนา ช่วงพื้นที่เขตบางนา เขตประเวศ และคลองลาดพร้าว ช่วงพื้นที่เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตลาดพร้าว ขณะนี้ กทม.ได้เร่งพร่องน้ำในคลองสายหลักเพื่อเตรียมรับน้ำฝน โดยเดินเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่เดิมเต็มอัตราสูบ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเร่งลดระดับน้ำในคลองต่างๆ โดยในคลองเปรมฯ เดินเครื่องสูบน้ำบริเวณอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมฯ ช่วงสะพานสูง บางซื่อ 8 เครื่อง อัตราสูบ 34 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อวินาที สถานีสูบน้ำบางซื่อ 17 เครื่อง อัตราสูบ 51 ลบ.ม./วินาที สถานีสูบน้ำบางเขนใหม่ 10 เครื่อง อัตราสูบ 30 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งเสริมเรือผลักดันน้ำตามจุดต่างๆ 22 ลำ เพื่อช่วยเร่งลดระดับน้ำในคลองเปรมฯ ช่วงพื้นที่หลักสี่ ดอนเมือง ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และกทม.ได้ประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองเปรมฯ ฝั่งใต้ เทศบาลหลักหกเพิ่มเติม 2 เครื่อง อัตราสูบ 2 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองเปรมฯ ออกสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์อีกทางหนึ่ง

นายภัทรุตม์ กล่าวว่า ส่วนในคลองแสนแสบ เดินเครื่องสูบน้ำอุโมงค์ระบายน้ำพระรามเก้า พร้อมควบคุมการเปิดประตูระบายน้ำบางชัน ประตูระบายน้ำมีนบุรี คลองประเวศบุรีรมย์ เดินเครื่องสูบน้ำในคลองพระโขนง 51 เครื่อง อัตราสูบ 173 ลบ.ม./วินาที พร้อมควบคุมประตูระบายน้ำที่ประตูระบายน้ำลาดกระบัง เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองประเวศ คลองบางนา เดินหน้าเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำบางนา 7 เครื่อง อัตราสูบ 21 ลบ.ม./วินาที พร้อมเดินเรือผลักดันน้ำตามจุดที่ติดตั้ง 8 ลำ เพื่อช่วยเร่งลดระดับน้ำในคลองบางนา และคลองลาดพร้าว เดินเครื่องสูบน้ำอุโมงค์พระราม 9 พร้อมเดินเรือผลักดันน้ำตามจุดที่ติดตั้ง 17 ลำ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำลงอุโมงค์พระราม 9

“ในส่วนของพื้นที่ฝั่งธนบุรี แม้ว่าระดับน้ำจะยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤต แต่ กทม.ก็ได้เตรียมความพร้อมโดยลดระดับน้ำในคลองต่างๆ ประกอบด้วย คลองชักพระ คลองมอญ คลองบางกอกใหญ่ คลองพระยาราชมนตรี และคลองดาวคะนอง สั่งการเดินเครื่องสูบน้ำเต็มกำลังสูบ โดยในคลองชักพระ 16 เครื่อง กำลังสูบ 48 ลบ.ม./วินาที คลองมอญ 8 เครื่อง กำลังสูบ 24 ลบ.ม./วินาที คลองบางกอกใหญ่ 19 เครื่อง กำลังสูบ 57 ลบ.ม./วินาที คลองพระยาราชมนตรี 10 เครื่อง กำลังสูบ 30 ลบ.ม./วินาที และคลองดาวคะนอง 15 เครื่อง กำลังสูบ 45 ลบ.ม./วินาที สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำ 2,000 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนพระรามหก ปริมาณน้ำ 600 ลบ.ม./วินาที โดยแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ สามารถรองรับน้ำได้ที่ปริมาณ 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นเขื่อนแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงยังคงรับน้ำได้” นายภัทรุตม์ กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์