‘กฤษฏา’ ควักพันล้าน จ่ายชดเชยชาวสวนอีก 1,500 บาท/ไร่ หวังดันราคาพุ่งกิโล 80 บาท

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตราการลดการส่งออกยาง เหลือระยะเวลาแค่ 1 เดือนกว่า ก็จะสิ้นสุดโครงการภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการผลันดันราคาให้สูงขึ้นตามนโยบายที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เตรียมดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางไปปลูกพืชอื่นจำนวน 700,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้ยางพาราหายไป 7 ปี ปีละ 70,000 ตัน ซึ่งอยู่ระหว่างวางแผนดำเนินงาน ส่วนอีกโครงการที่มีการหารือ คือ โครงการงดกรีดยางทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านไร่ ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ประมาณ 3 เดือน ในช่วงปิดกรีดยางพาราเดือนพ.ค.-ก.ค. 2561 โดยจะหาอาชีพเสริมให้ชาวสวนยางแทนการปลูกยาง และจะมีเงินชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร 1,500 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่

ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังติดต่อกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เพื่อชักชวนมาเข้าร่วมโครงการงดกรีดยางในช่วงเวลาเดียวกัน เหมือนกับโครงการลดการส่งออกยาง ซึ่งจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โครงการงดกรีดยางยังเป็นแค่แนวคิดของตน และยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 ก.พ. 2561 กระทรวงเกษตรฯ จะเชิญทั้ง 3 ประเทศ มาเจรจาซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ และรัฐบาลอนุญาตให้ใช้งบกลางได้ โครงการนี้ก็จะเริ่มช่วงปิดกรีดยางในช่วงเดือนพ.ค-ก.ค.ได้เลย

“ปัจจุบันไทยมีมูลค่าส่งออกยางพาราปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากโครงการงดกรีดยาง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ชดเชยให้เกษตรกร 1,500 บาทต่อไร่ ทำได้จริง แล้วสามารถดันราคายางพาราขึ้นไปถึง 70-80 บาทต่อก.ก. ได้ และทำให้มูลค่าส่งออกยางพาราของไทยสูงขึ้นถึง 300,000-400,000 ล้านบาท ก็ถือว่าคุ้ม เพราะเงินส่วนนี้จะเข้ากระเป๋าเกษตรกร”

นายกฤษฎา กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นการใช้ยางในประเทศ รัฐบาลมีนโยบายให้ส่วนราชการต่างๆ หันมาใช้ยางในหน่วยงานของตนเองมากขึ้น เช่น กรมชลประทาน และกระทรวงคมนาคม ใช้ในการทำถนน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานรัฐแจ้งความจำนงแล้ว 8,000 ตัน ดังนั้นเพื่อเร่งรัดการใช้ยางให้รวดเร็วขึ้นในวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งงานให้สำนักงบประมาณเร่งรัดการใช้ยางในหน่วยราชการ โดยถ้ามีหน่วยงานไหนต้องการจะใช้เงินเพิ่มในการซื้อยางให้เสนอมาได้

ส่วนงบประมาณสำหรับภาคเอกชนที่จะนำไปแปรรูปยาง อาทิ ทำหมอน ที่นอน เป็นต้น ซึ่งเสนอเงินกู้ให้ดอกเบี้ย 3% ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังจะจัดประชุมผู้ประกอบการภาคเอกชน เนื่องจากการสร้างความรับรู้ยังน้อย มีผู้ประกอบการหลายรายยังไม่รู้จักโครงการ

“จากการมาตรการลดการส่งออกยางในช่วงที่ผ่านมา และจากการปิดหน้ายางหรือหยุดกรีดยางบางพื้นที่ ปัจจุบันราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ 47 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ซึ่งการที่ราคายังไม่ขยับขึ้นมากนัก เนื่องจากยังติดช่วงเทศกาลตรุษจีน ตลาดยางใหญ่ของโลกที่เซี่ยงไฮ้จึงปิดตลาดประมาณ 10 วัน ดังนั้นจึงคาดว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปราคายางน่าจะปรับตัวขึ้น”