เศรษฐกิจเมืองริมโขง 4ประเทศคึกคัก ปลุกทุนไทยตื่นตัวรับอานิสงส์

พลิกโฉมเศรษฐกิจ 9 เมืองชายแดน 4 ประเทศ เอกชนเมืองเชียงรายแนะทุนไทยปรับตัวรับอานิสงส์เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เผยจีนไล่ระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ขณะที่ “ลาว” ผุดท่าเรือเมืองมอม ห่างเชียงแสน 13 กิโลเมตร ผงาดเป็น 1 ใน 14 เมืองท่าขนาดใหญ่ พร้อมศูนย์การค้าครบวงจร

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา สปป.ลาว และมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างการพัฒนาและความร่วมมือต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะเมืองชายแดนต่าง ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ มีการยกเลิกการใช้ท่าเรือในแม่น้ำโขงที่เมืองสบเหลย ประเทศเมียนมา ห่างจากชายแดนอำเภอเชียงแสนขึ้นไป 200 กิโลเมตร เพราะอยู่นอกเหนือข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติ ทั้ง ๆ ที่เป็นท่าเรือใหญ่และคึกคักที่สุดในแม่น้ำโขง มีเรือมากกว่า 700 ลำ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเดินเรือในแม่น้ำโขงจะไม่ซบเซา เพราะประเทศจีนยังคงโหมระเบิดเกาะแก่งหินในแม่น้ำโขงหลายจุดเพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ในอนาคต และรองรับการสร้างเขื่อนแห่งใหม่ที่เมืองกาลัมปา มณฑลยูนนาน ขณะเดียวกันเขื่อนไชยะบุรี แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ก็กำลังสร้างกั้นแม่น้ำโขง จะแล้วเสร็จในอีก 14 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำจากจีนตอนใต้-สปป.ลาว ระหว่างเขื่อนดังกล่าวสูงขึ้น 2-4 เมตร เหมาะกับการเดินเรือขนาดใหญ่ ซึ่งเรือเล็กจะเดินเรือได้ลำบาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนด้านการเดินเรือท่องเที่ยว และขนส่งสินค้าขนาดเล็ก จะต้องเพิ่มเครื่องยนต์เรือเป็น 2 เครื่อง เพื่อจะได้แล่นเข้าฝั่งได้ทันกรณีเรือมีปัญหากลางแม่น้ำ

น.ส.ผกายมาศกล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการประชุมผู้แทนจาก 4 ชาติ (ไทย สปป.ลาว เมียนมา และจีน) ที่จังหวัดเชียงใหม่ และมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 4 ชาติ 9 เมืองชายแดน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แขวงหลวงพระบาง แขวงอุดมไชย แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เมืองเชียงตุง และเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เพื่อร่วมมือกันด้านการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การขนส่ง การศึกษาและวัฒนธรรม

สำหรับข้อตกลงนี้ มีรายละเอียดหลายด้าน เช่น เพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ให้สภาหอการค้าทั้ง 9 ฝ่ายจัดพบปะกัน และให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านพรมแดนบ่อเต็น-บ่อหาน ชายแดนจีน-สปป.ลาว แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว-อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชียงกก สปป.ลาว-เชียงลาบ ประเทศเมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย-เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กับสามเหลี่ยมทองคำ สปป.ลาว และท่าเรือ อ.เชียงแสน-เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ปรึกษาหารือเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้า เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว

นอกจากนั้นยังให้แต่ละฝ่ายผลัดเปลี่ยนกันจัดงานแสดงสินค้าเป็นประจำทุกปีรวมทั้งสนับสนุนการจัดคาราวานท่องเที่ยวแต่ละฝ่ายจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อวางแผนปฏิบัติงานละประเมินผลร่วมกันทั้ง4ประเทศ ทั้งนี้จะมีการจัดประชุมอีกครั้งที่เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาในปี 2560 ต่อไป

“ปัจจุบันลาวมีการพัฒนาท่าเรือแม่น้ำโขงที่เมืองมอม แขวงบ่อแก้ว ห่างจาก อ.เชียงแสน ประมาณ 13 กิโลเมตร และเป็น 1 ใน 14 เมืองท่าขนาดใหญ่ตามข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติ ซึ่งจะเป็นทั้งท่าเรือและศูนย์การค้าครบวงจร จะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี ส่วนท่าเรือบ้านโป่งฝั่งตรงข้ามเมืองมอม จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ในอนาคต”

ขณะที่จีนก็โหมพัฒนาต่อเนื่อง ลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมจีนตอนใต้ผ่านแขวงอุดมไชย-ไชยะบุรี ข้ามแม่น้ำโขง สามารถเชื่อมกับเส้นทางรถไฟสายจีน-สปป.ลาว-จ.หนองคายของไทย ทำให้การเดินทางเชื่อมไปยังจีนจะสะดวกมากขึ้น เพราะเส้นทางนี้สามารถเชื่อมไปจนถึงเมืองเสิ่นเจิ้น-ฮ่องกง และ สปป.ลาว ยังเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างเมืองเชียงกกกับเมืองเชียงลาบ ประเทศเมียนมา โดยเชื่อมกับถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีน และอาร์สามบีไทย-เมียนมา-จีน ทำให้เส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ส่วนในมณฑลยูนนานก็มีการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเมืองคุนหมิง ตั้งเป้าเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอีกด้วย

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์