ลมหายใจ “กุหลาบพบพระ” เบ่งบาน หรือโรยรา ?

จังหวัดตาก นับเป็นแหล่งปลูกกุหลาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพื้นที่ที่ปลูกมากที่สุด คือ อำเภอพบพระ ที่สามารถผลิตดอกกุหลาบส่งจำหน่ายจำนวนมาก โดยตลาดหลักยังคงเป็นปากคลองตลาด ที่จะกระจายส่งออกไปทั่วประเทศ

“อรพินทร์ แสงมณี” เกษตรอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นแหล่งปลูกกุหลาบมากที่สุดในประเทศไทย ปี 2560 มีพื้นที่ปลูก 1,847 ไร่ เกษตรกรประมาณ 60 ราย ซึ่งพื้นที่ลดลงกว่าปี 2559 กว่า 1 พันไร่ เกษตรกรผู้ปลูกประมาณ 90 ราย

สำหรับสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สายพันธุ์แกรนด์กาลา โดยสัดส่วนกว่า 90% จำหน่ายในประเทศ ตลาดหลักคือ ตลาดปากคลองตลาด และอีก 10% ส่งจำหน่ายประเทศเมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นกุหลาบแปรรูป เช่น กุหลาบอบแห้ง เป็นต้น

ขณะที่พื้นที่ปลูกที่ลดลงมีสาเหตุมาจากปัจจัย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องแรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานชาวเมียนมา โดย 1 ไร่ จะใช้แรงงานประมาณ 2 คน ในการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ตัดแต่งกิ่ง ตัดดอก และถอนหญ้า ซึ่งได้ค่าแรงตามค่าจ้างขั้นต่ำ แม้เกษตรกรจะมีการขึ้นทะเบียนแรงงานได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่เมื่อแรงงานได้รับบัตรแรงงาน ก็มักจะย้ายไปทำงานที่อื่น จึงสร้างความไม่มั่นใจและความไม่แน่นอนให้กับเกษตรกร

2.เรื่องโรคแมลง ที่เกษตรกรต้องประสบทุกปี เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง ขณะที่ในช่วงฤดูฝนจะประสบโรคใบจุด ใบร่วง ซึ่งขณะนี้เกษตรกรกำลังประสบปัญหาเรื่องเพลี้ยไฟระบาด ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งร้อนและเย็นสลับกัน ส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง และหากแก้ไขไม่ทันและโรคระบาดไปทั้งแปลง เกษตรกรต้องตัดแต่งกิ่งใหม่ ใช้ระยะเวลาอีก 2-3 เดือน ถึงจะได้ผลผลิต ทั้งนี้ พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกกุหลาบได้ 3,000 ต้น สามารถตัดดอกได้ 500 ดอก แต่ช่วงที่ประสบโรคระบาด ผลผลิตจะลดลงเหลือเพียง 300 ดอกเท่านั้น

3.เรื่องราคา กุหลาบสามารถแบ่งเกรดได้ 2 อย่าง คือ ไม้ใหญ่ ที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ดอกถึงปลายก้าน 60 เซนติเมตรขึ้นไป และไม้รอง ที่มีขนาดเล็กกว่า โดยเฉลี่ยราคาทั้งสองเกรดตลอดทั้งปีอยู่ที่ 0.80 บาท/ดอก ซึ่งถือว่าเกษตรกรค่อนข้างแย่ เพราะราคาที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้อยู่ที่ประมาณ 1.50-2 บาทขึ้นไป/ดอก แต่ทั้งนี้ราคาของกุหลาบจะขึ้นอยู่กับราคาตลาด ณ วันนั้น ซึ่งเป็นพ่อค้าที่อยู่ปลายทาง เช่น เมื่อพ่อค้ามารับซื้อกุหลาบถึงหน้าสวนในวันนี้ อีก 7 วันข้างหน้าเกษตรกรถึงจะรู้ราคาที่ขายได้

ประกอบกับต้นทุนด้านการขนส่งผลผลิตที่เกษตรกรจะต้องจ่ายด้วย เช่น ในช่วงที่ผ่านมา สมมุติบิลราคากุหลาบอยู่ที่ 0.30 บาท/ดอก เกษตรกรต้องเสียค่าขนส่งไปกว่า 0.10 บาท/ดอก รวมถึงมีดอกกุหลาบจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดไทย เช่น จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ลักษณะพรีเมี่ยมกว่า ดอกใหญ่กว่า และสวยกว่าของไทย

ทั้งนี้ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนลดความเสี่ยง และใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า ด้วยการปลูกพืชแซมตามช่องว่าง เช่น ผักชี พริก เป็นต้น และบางส่วนเลิกปลูกกุหลาบและหันไปปลูกไม้ผลแทน ได้แก่ ทุเรียน ส้ม อะโวคาโด

ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำตอบของกุหลาบอำเภอพบพระในวันข้างหน้า คือ ลดลง กับทรงตัว ตราบใดที่อุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข