ค่าฝุ่นละอองกรุงเทพยังวิกฤต เลี่ยงอยู่กลางแจ้งเวลานาน ด้านกรีนพีซ จี้กรมควบคุมมลพิษแจ้งเตือนประชาชน

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในกรณีที่ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกินมาตรฐาน ความว่า

RED ALERT ฝุ่นพิษ PM 2.5

เช้านี้ ดัชนีคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครเป็นสีแดงทุกจุดที่มีสถานีวัด ภาพที่ถ่ายเป็นช่วงเช้าวันนี้ ไม่ใช่ช่วงกลางคืนนะครับ

กรมควบคุมมลพิษ เตือนภัยกันหน่อย กล้านิดนึง เอาดัชนี PM2.5 มาใช้เลย รออะไร อย่ากินเงินภาษีประชาชนฟรีๆ ดิ

หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ทางที่ดีหากหน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ใส่ แต่ราคามันแพงอยู่

พร้อมกับบรรยายต่ออีกว่า

มีหลายคนรวมถึงสื่อมวลชนถามผมว่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากไหน คำตอบสั้นๆ ก็คือมาจากยานยนต์ที่เราใช้กัน

คำตอบที่ยาวขึ้นคือมาจากการกระจายของมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในเขตชายฝั่งทะเลตะวันออกโดยเฉพาะเขตมาบตาพุด จังหวัดระยอง

อันนี้ไม่ได้ทึกทักนะครับ ผมเอามาจากผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem) ซึ่งระบุว่า….

“โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีและเก็คโค-วัน ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงอย่างเกาะเสม็ด เกาะแสมสารและพัทยา รวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน เมื่อลมพัดจากทางทิศใต้มายังทิศตะวันตกเฉียงใต้(ดูภาพแรกแสดงทิศทางของกระแสลม) และในช่วงสภาวะอากาศที่แย่ที่สุด ในแต่ละวันฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งสามารถแพร่ กระจายเข้าสู่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในสัดส่วนร้อยละ 40 และในเขตกรุงเทพมหานครร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปี”

#ยกเลิกถ่านหินเทพาและกระบี่ #เลื่อนปีอีกสามปีก็คือสร้างนั่นแหละ #อีกสามปีถ่านหินก็ไม่คุ้มแล้วจะลงทุนไปทำซากอะไร

อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสภาพอากาศผ่านทางเว็บไซต์ โดยระบุว่า

กรมควบคุมมลพิษ ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เวลา 8.00 น. ดังนี้

1. ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 69-94 มคก./ลบ.ม. เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 5 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น