อพท.จับมือมธ. สำรวจท่องเที่ยวชุมชน พบจ้างคนแก่-พิการทำงานกระจายรายได้ ดันจ้างงานโต 62%

พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษในปี 2560 เพื่อประเมินผลความสำเร็จ โดย อพท.ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในผู้สูงวัย และผู้พิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาใช้ประยุกต์กับพื้นที่พิเศษแล้ว

ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่าย และที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่าย ผลปรากฏว่า อัตราการจ้างแรงงานท้องถิ่นในกลุ่มที่เป็นภาคีเครือข่าย มีอัตราสูงถึง 62.46% หรือเติบโตกว่า 33% หรือคิดเป็นจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นจาก 1,095 คนเป็น 1,456 คน อัตราดังกล่าวเพิ่มสวนทางกับการจ้างงานในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เครือข่าย มีอยู่ในอัตรา 34.25% ลดลงกว่า 30% หรือคิดเป็นจำนวนราว 4.17 หมื่นคน ลดลงจากที่เคยสูงถึง 5 หมื่นคนในปี 2559

นอกจากนั้น เมื่อเจาะลึกไปยังประเภทแรงงานในพื้นที่พิเศษพบด้วยว่า ในปีที่ผ่านมา ทุกๆ แรงงาน 100 คน จะมีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 34 คน, ผู้พิการ 1 คน, ผู้สูงอายุ 6 คน แต่พื้นที่พิเศษที่เป็นภาคีเครือข่ายจะมีการจ้างงานประเภทดังกล่าวสูงกว่า ได้แก่ แรงงานท้องถิ่น 62 คน ผู้พิการ 1 คน แต่ผู้สูงอายุจะต่ำกว่าที่ 1 คน

อย่างไรก็ตาม ปี 2561 จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด “ทัวริสซึ่ม ฟอร์ ออล” หรือการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยเริ่มนำร่องสร้างแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ แล้วที่พัทยา ซึ่งมาจากความเต็มใจร่วมพัฒนากันของภาคธุรกิจเอกชนที่เห็นโอกาส และหลังจากนี้ เมื่อ อพท. ได้ผ่านกระบวนการรับมอบให้ขยายการดูแลจากพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง ไปเป็น 9 คลัสเตอร์ 38 จังหวัดแล้ว ก็จะเข้าไปเตรียมความพร้อมของทุกแห่ง ให้เห็นโอกาสและรับมือเตรียมรับกลุ่มประชากรเหล่านี้

“ปีงบประมาณ 2561 จะยังขับเคลื่อนด้วยแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน (ซีบีที) ที่มีเครื่องมือ GSTC ทั้ง 41 ข้อเป็นเกณฑ์ต่อไป และคาดว่าจะเห็นการพัฒนาในภาพรวมที่สอดคล้องกันมากขึ้น เนื่องจากกระทรวงการท่องเที่ยว ก็จะเริ่มนำเกณฑ์ดังกล่าวไปปรับใช้ ทำให้เกิดมิติการส่งเสริมที่ครอบคลุม ได้แก่ อพท. เน้นลงลึกทำงานร่วมกับชุมชนให้นำเอาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของตัวเองมาปรับรับกับการท่องเที่ยว ส่วนกระทรวงฯ ก็ทำงานในระดับจังหวัดประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยมีหลักเกณฑ์เดียวกัน”

นายธีระ สินเดชารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะการมีงานทำของประชากรสูงอายุของไทย มีค่าเฉลี่ยที่ราว 38-40% แต่ภาพรวมด้านการจ้างงานผู้สูงอายุภาคท่องเที่ยวยังมีเพียง 5-6% เท่านั้น ดังนั้น จึงยังมีช่องว่างอีกมากให้เร่งพัฒนาศักยภาพหรือหาที่ว่างในตลาดแรงงาน ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วม ซึ่งมีข้อเสนอแนะ 2 ด้านสำหรับผู้ประกอบการคือ ต้องหางานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง และเหมาะสมกับสภาวะร่างกายหรือจิตใจของผู้สูงวัยด้วย และเสนอแนะให้เป็นการจ้างแบบพาร์ตไทม์ เพราะนอกจากจะยืดหยุ่นสำหรับผู้สูงวัยได้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดต้นทุนจากการมีภาระจ้างพนักงานประจำของธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ อพท. ยังตั้งเป้าหมายในปี 2561 ด้วยว่าทุกชุมชนภายใต้การดูแล จะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินความอยู่ดีมีสุขของพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 75% ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีระดับความสุขไม่ต่ำกว่า 70% ประชาชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15% และดัชนีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชาชนในพื้นที่พิเศษต่ำกว่า 0.41 เป็นต้น

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์