ทายาท “ธรรมวัฒนะ” ปรับโฉมตลาดยิ่งเจริญ 30 ไร่ รับสายสีเขียว-ไทยแลนด์ 4.0

สัมภาษณ์พิเศษ

ย่างเข้าสู่ปีที่ 63 แล้ว “ตลาดยิ่งเจริญ” ธุรกิจตลาดสดทำเลทองของตระกูลธรรมวัฒนะ ท่ามกลางไลฟ์สไตล์การจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนไป ตามยุคสมัย หลังมีค้าปลีก ไฮเปอร์มาร์เก็ต เข้ามาแทรกซึม ตลาดสดจะยังครองใจผู้บริโภคอยู่หรือไม่

ทายาทรุ่นที่ 3 ตลาดยิ่งเจริญ “อริย ธรรมวัฒนะ” กรรมการบริหาร บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด และผู้จัดการตลาดยิ่งเจริญ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการปรับตัว การพัฒนาใหม่ ๆ จะมารองรับกับความเปลี่ยนแปลงและรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่กำลังจะมาถึงในปี 2563

Q : แผนลงทุนตลาดรับรถไฟฟ้า

ตลาดยิ่งเจริญเตรียมพร้อมการพัฒนาองค์กร รองรับกับการมาถึงของรถไฟฟ้า มีแผนจะพัฒนาตลาดให้เป็นฝั่ง old town คือ ความเป็นตลาดสดมาตรฐาน และ new town มีบริการเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และสินค้าใหม่ ๆ ที่ทันสมัย ครบวงจร ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น เช่น คนรุ่นใหม่ แต่ก็จะยังคงแนวคิดของตลาดสดวิถีแบบไทยไว้ ไม่ได้มุ่งเน้นเปลี่ยนตัวเองไปเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้า ยังรักษาไว้ซึ่งรูปแบบและเสน่ห์ของตลาดสดวิถีไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร วัตถุดิบ และอยู่ร่วมกันในชุมชนแบบยั่งยืน เป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย การเปลี่ยนแปลง เป็นหนทางรองรับลูกค้าที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท วางเป้าหมายเป็น “ฟู้ดเดสติเนชั่น” ครบวงจร และต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต บริษัทจะใช้พื้นที่ลานจอดรถที่เหลืออยู่ขนาด 9 ไร่ มาพัฒนาต่อเติมให้เป็นพื้นที่เช่าร้านค้าเพิ่มเติม

Q : จะเริ่มพัฒนาเมื่อไหร่

การพัฒนาทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การศึกษา วิจัย ความเป็นไปได้ รูปแบบแนวทางการพัฒนา เพื่อกำหนดเป็นแผนงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Q : จะยกระดับตลาดยิ่งเจริญเป็นมากกว่าตลาดสด

ตลาดยิ่งเจริญก้าวสู่ปีที่ 63 กำลังจะก้าวไปข้างหน้าเข้าสู่ศตวรรษที่ 7 ในปีนี้ บริษัทมีนโยบายการบริหารเพื่อพัฒนาตลาดยิ่งเจริญให้เป็นที่ยอมรับ เป็นที่รู้จักจากทั้งผู้ค้าขายและประชาชนทั่วไป พร้อมก้าวเป็นตลาดสดยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่พร้อมพัฒนาและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

เน้นการพัฒนาตลาดสู่การเป็น green market ภายใต้นโยบาย “Y Together” หมายความว่า ยิ่งเจริญเราจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างยั่งยืนและมั่นคง ไปพร้อม ๆ กับกลุ่มของคู่ค้า ลูกค้า สังคม และชุมชน เน้นการพัฒนาศักยภาพและทักษะการเรียนรู้

พร้อมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน แม่บ้าน ภาคธุรกิจ และคนสมัยใหม่ โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาเสริม พัฒนาแบรนด์ในรูปแบบตลาดสด 4.0 ที่สะดวก รวดเร็ว ประทับใจ

ดังเช่นการตลาดออนไลน์ ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่นิยมใช้บริการสั่งซื้อของทางออนไลน์ ส่งถึงบ้านให้ผู้บริโภค เป็นการจับจ่ายใช้สอยง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางมาเองในช่องทางออนไลน์ “ส่งสด” ส่งความสดถึงมือคุณ กระตุ้นให้คู่ค้าเพิ่มคุณภาพของสินค้าและการบริการ หันมาทำการตลาดมากขึ้น

Q : การบริหารพื้นที่ปัจจุบัน

ปัจจุบันตลาดยิ่งเจริญตั้งอยู่บนที่ดินกว่า 30 ไร่ มีร้านค้าประมาณ 1,500 ร้าน แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการซื้อสินค้าครบทุกประเภท นอกจากนี้ยังมีโซนต่าง ๆ เปิดให้บริการอีก เช่น โซนตลาดนัดคนกันเอง ตลาดนัดคลองถม 2 ลานโปรโมชั่น ยิ่งเจริญพลาซ่าศูนย์อาหารโต้รุ่ง และโรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ เป็นต้น

ตลาดยิ่งเจริญถือเป็นตลาดค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีคนเข้ามาจับจ่ายซื้อของในตลาดสด วันละประมาณ 20,000 คน มีรถเข้ามาใช้บริการ 7,000-8,000 คัน ในวันปกติ และในเทศกาลสำคัญมีมากกว่า 10,000 คันต่อวัน แบ่งสินค้าออกเป็น 15 กลุ่ม ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา ของทะเล ผัก ของชำ อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ขนมทานเล่น ผลไม้ ดอกไม้ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เครื่องใช้ อุปกรณ์ไอที บริการ และเบ็ดเตล็ด

Q : ภาพรวมของรายได้

ปัจจุบันรายได้หลักจากการบริหารตลาดยิ่งเจริญ มาจากการจัดสรรพื้นที่เช่าให้ผู้ค้ารายย่อย และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ นิติบุคคล รายได้โดยเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าผลประกอบธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบจากพื้นที่ทั้งหมด พบว่าเรามีผู้ค้าเช่าพื้นที่ประมาณ 95% มีเพียง 5% ที่มีอัตราการเพิ่ม-ลดการเช่าต่อไปในอนาคต เมื่อมีการพัฒนาองค์กรในทุกมิติ ให้ครบวงจร เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น 50% จะส่งผลทำให้รายได้จากการพัฒนาธุรกิจ เช่น การเช่าพื้นที่ขยายตามประเภทสินค้า และลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 40%

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์