สรรพากรรุกภาษีออนไลน์ หาช่องรีด‘กูเกิ้ล-เฟซบุ๊ก’

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สั่งเจ้าหน้าที่ตั้งทีมเฉพาะกิจ เพื่อศึกษาถึงการจัดเก็บภาษีจากบริษัทผู้ให้บริการผ่านออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งไทยและต่างชาติ เช่น กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม แอพพลิเคชั่นไอโชว์ หรือบีโกไลฟ์ เพราะถือเป็นนิติบุคคลที่เปิดให้บริการในประเทศไทยและมีผู้ใช้จำนวนมาก เมื่อมีรายได้ก็ต้องนำสู่ระบบเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยภาษีดังกล่าวมีหลายประเทศดำเนินการและจัดเก็บอยู่ ทั้งประเทศอินโดนีเซีย, อังกฤษ และออสเตรเลีย เป็นต้น

6-e1459565171872-768x500

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศจัดเก็บภาษีส่วนนี้ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ที่เก็บภาษีจากบริษัท กูเกิ้ล เนื่องจากมีการจัดตั้งสำนักงานที่ชัดเจน ขณะที่ ประเทศไทยส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการเท่านั้น แต่ไม่ได้จัดตั้งสำนักงาน ทำให้กรมสรรพากรต้องพิจารณาในข้อกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีดังกล่าว เบื้องต้นหากติดขัดเรื่องกฎหมาย กรมฯ ก็จะเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เพื่อเปิดทางให้บริษัทผู้ให้บริการผ่านออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้อง

4141

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางจัดเก็บภาษีจากบริษัทผู้ให้บริการผ่านออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ค ถือเป็นไปตามสากลที่มีหลายประเทศดำเนินการอยู่ เนื่องจากการให้บริการของแต่ละบริษัท เมื่อมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ก็จะมีรายได้จำนวนมาก ทำให้กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ต้องดำเนินการรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยน โดยยืนยันว่าการศึกษาจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้นำส่งรัฐ แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการที่เสียภาษี เมื่อมีรายได้ที่ดำเนินการในประเทศไทยก็ควรเข้าสู่ระบบภาษี

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง ยังสั่งให้กรมสรรพากร ตรวจสอบการเสียภาษี จากเพจดัง เน็ตไอดอล ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการรับงานและมีรายได้เข้ามา ทั้งการเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือขายของบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการเสียภาษีของดารา นักแสดง หากไม่ยื่นเสียภาษีตามที่กำหนดไว้ จะถูกตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้ เหมือนกับดารา นักแสดงที่โดนสอบย้อนหลังและได้เรียกเก็บภาษีอยู่หลายรายในช่วงก่อนหน้านี้

 

ด้านนายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คลังออกพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นทั่วไป อายุ 3 ปี และ 5 ปี โดยแบ่งจำหน่ายแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 4 เดือน วงเงินช่วงละ 1.5 หมื่นล้านบาท รวมเป็นพันธบัตรที่จะออกทั้งหมด 3 หมื่นล้านบาท สำหรับการขายในช่วงแรกจะเริ่มขายในเดือน ธ.ค. 2559 เนื่องจากมีพันธบัตรออมทรัพย์ครบอายุจำนวนหลายหมื่นล้านบาท จะได้ให้ลูกค้าที่ต้องการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลต่อมีทางเลือก

การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์จะขายให้กับนักลงทุนรายย่อย ซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ยปีละ 2 งวด โดยจำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์ทุกสาขาและเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM ตลอด 24 ชั่วโมง) ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

นายสุวิชญ กล่าวว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะออกรอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เห็นชอบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยยังสูงกว่าผลตอบแทนที่จะการฝากเงินอยู่ค่อนข้างมาก สำหรับการออกพันธบัตรออกทรัพย์ครั้งนี้ เป็นไปตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2560 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยพันธออมทรัพย์เป็นบัตรแบบ ไร้ใบตราสาร (Scripless) ทั้งนี้ ผู้ถือกรรมสิทธิ์สามารถขอถอนพันธบัตรจากระบบ Scripless เพื่อออกเป็นใบพันธบัตร (Script) ได้ภายหลัง

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์