จุฬาฯดันธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยทุน 100 ล้าน

จุฬาฯผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม หรือ Siam Innovation District ที่มุ่งสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในกลุ่มนวัตกรรม 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไลฟ์สไตล์ กลุ่มดิจิตอลและหุ่นยนต์ กลุ่มความยั่งยืนทางทรัพยากร กลุ่มเมืองอัจฉริยะ และกลุ่มนวัตกรรมการศึกษา

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่การค้าให้เป็นแหล่งอุดมปัญญาสำหรับการแก้ปัญหาระดับประเทศ โดยส่วนหนึ่งของโครงการนี้คือ โครงการ 100SID ที่ต้องการจะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยการเปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนรวมกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับเงินทุนที่สนับสนุนจะแบ่งเป็นสองประเภท คือ เงินทุนสำหรับการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ทุนละ 1 ล้านบาท และเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจใหม่ ทุนละ 5 ล้านบาท ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า โครงการได้รับความสนใจจากธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกโครงการที่น่าสนใจตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งก็มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความพร้อมมากพอ และคงต้องไปเข้าร่วมแข่งขันในโครงการอื่นต่อไป

 

สำหรับโครงการที่ผ่านการคัดเลือกขั้นต้นแล้ว ทาง 100SID ได้จัดหาคณะที่ปรึกษาโครงการ หรือ mentor เพื่อให้คำปรึกษากับผู้เข้าประกวด บรรดา mentor ที่เข้ามาให้คำปรึกษา ก็มาจากนักธุรกิจหลากหลายประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็น วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานโครงการ Chulalongkorn University for Thailand Excellence อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) พิเชษฐ ตุรงคินานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิร์คแมนชิพ เซ็ท แอนด์ ดีไซน์ จำกัด และ รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์โอสถ จำกัด

พิเชษฐ สิทธิอำนวย หนึ่งใน mentor ของ 100SID กล่าวว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งมักจะเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจที่มีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ มองหาตลาดใหม่ๆ ทดสอบแนวความคิดใหม่ๆ ที่ปรึกษายังสามารถตรวจสอบแนวความคิด ความเป็นไปได้ของโครงการ วิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ

นอกจากนี้ mentor ยังมีโอกาสที่จะช่วยเชื่อมต่อธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพในหลายๆรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างสตาร์ทอัพด้วยกันเอง เชื่อมต่อกับลูกค้า หรือ ซัพพลายเออร์ หรือ การเชื่อมต่อกับธุรกิจอื่นที่กำลังมองหาตัวช่วยอย่างสตาร์ทอัพด้วย พิเชษฐ ได้รับมอบหมายให้คำปรึกษากับธุรกิจ 5 โครงการด้วยกัน สองในห้าโครงการ เป็นโครงการเกี่ยวกับเกษตร ได้แก่ Aritake และ Farm Story แต่เป็นนวัตกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกัน Aritake เป็นธุรกิจเห็ดแผ่นอบกรอบ โดยเน้นกระบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อิงหลักธรรมชาติ ธุรกิจ Aritake เป็นสตาร์ทอัพจากสองพี่น้องฝาแฝด อารยา และ อาริยะ ศรีจารนัย จากอุดรธานี ที่ทำธุรกิจฟาร์มเห็ด แต่ต้องการใช้นวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากเห็ด ผสมกับข้าวและถั่วเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 ซีรีย์ ได้แก่

1. Smart เป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นเสริมพลังสมองด้วยเห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดยามาบูชิตาเกะ ถั่วเหลือง และน้ำมันมะพร้าว

2. Slim เน้นการขับของเสียออกจากร่างกาย ด้วยเห็ดนางรมฮังการี ถั่วขาว แก่นตะวัน ข้าวและจมูกข้าวกล้องแดง

3. Strong เน้นร่างกายแข็งแรง ด้วยการใช้เห็ดนางฟ้าภูฏาน ถั่วลันเตา น้ำมันมะพร้าว ข้าวและจมูกข้าวกล้องทับทิมชุมแพ Farm Story โดย พรหมพิพัฒน์ พรหมคุ้ม พัฒนาโมบาย แอปพลิเคชั่น 2 ระบบ ได้แก่ Farm Story และ Farm Hub โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกร สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยในการแก้ปัญหาราคาพืชผล การสร้างเครือข่ายเกษตรกร และผู้สนับสนุน เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดย Farm Story มุ่งให้เกษตรกร สามารถนำเสนอผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้แก่ผู้ซื้อในรูปแบบ B2B จากการที่ลูกค้าเกษตรอินทรีย์เป็นกลุ่มเฉพาะ และเห็นถึงคุณค่าของสินค้า ในขณะที่ Farm Hub ถูกออกแบบเพื่อให้เกษตรกรสามารถติดต่อกับเครือข่าวผู้ให้บริการด้านการเกษตรรูปแบบต่างๆ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ต้นทุนการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอสินค้า

พิเชษฐ กล่าวต่อว่า แม้ว่าทั้งสองโครงการจะเป็นนวัตกรรมในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะโครงการหนึ่งเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหาร แต่อีกโครงการเป็นโมบายแอปฯ แต่ตนก็สามารถสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจที่มุ่งหวังผลกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งที่จะนำเสนอสิ่งดีๆให้กับลูกค้าและสังคมโดยตรง ผ่านทางนวัตกรรมที่ตนมุ่งพัฒนา และจิตวิญญาณนี้แหละ ที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตพร้อมกับความใส่ใจในสังคมโดยรวมผ่านทางนวัตกรรมที่จะทำให้ธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน