ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กาแฟกระป๋อง 1.2 หมื่นล้าน สะเทือนรับภาษีใหม่ทำต้นทุนพุ่ง “เนสกาแฟ” ต้านไม่ไหวปรับขึ้นเป็น 15 บาท หลังยื้อนานกว่า 3 เดือน ส่วนเบอร์ดี้-คาราบาว ชิงปรับขึ้นแล้วก่อนหน้า พร้อมส่งโปรโมชั่นชิงยอดขายแต่ไก่โห่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ที่ประกาศบังคับใช้ไปเมื่อ 16 กันยายน 2560 ได้ประกาศให้เครื่องดื่มประเภทกาแฟพร้อมดื่ม จะต้องเสียภาษี 10% ของราคาขายปลีกแนะนำ จากที่ไม่เคยถูกเก็บมาก่อนเพราะได้รับการยกเว้นเนื่องจากอยู่ในเกณฑ์การใช้วัตถุดิบที่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ และภาษีตามปริมาณความหวาน ทำให้ต้นทุนของสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นกันทั่วหน้าผู้ประกอบการหลายรายจึงพยายามตรึงราคาของสินค้าเอาไว้ก่อนในช่วงแรก เพื่อไม่ให้กระทบกับบรรยากาศการจับจ่าย และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น แต่ในอีก 1 เดือนต่อมา ผู้นำตลาดอย่างเบอร์ดี้ ก็ชิงปรับราคากาแฟกระป๋องจาก 13 บาท เป็น 15 บาท พร้อมกับคาราบาว ที่ปรับราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท ในขณะที่เนสกาแฟ ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ของตลาด ยังไม่ปรับราคาขึ้นล่าสุดหลังจากผ่านไป 3 เดือน เนสกาแฟกระป๋องได้ปรับราคาขึ้นจาก 12 บาท เป็น 15 บาท เช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟกระป๋อง ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ “คาราบาว” ฉายภาพให้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า การปรับขึ้นราคาของกาแฟกระป๋องมีสาเหตุหลักมาจากภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ชาและกาแฟ จะต้องจ่ายภาษี 10% ของราคาขายปลีกแนะนำ บวกกับภาษีความหวาน ที่จัดเก็บตามปริมาณน้ำตาล ยิ่งมีน้ำตาลมากยิ่งมีภาระเสียภาษีมาก จากเดิมที่สินค้าประเภทนี้ไม่เคยเสียมาก่อน เพราะได้รับการยกเว้น
โดยกาแฟกระป๋องของคาราบาวเองก็ได้ปรับขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนหน้า จาก 10 บาท เป็น 12 บาท แต่ก็ยังมีราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ซึ่งปรับขึ้นเป็น 15 บาท
“จะกระทบมากขึ้นไหม ? ต้องบอกว่าในช่วงที่ผ่านมากำลังซื้อทุกอย่างมันดรอปลงหมด ตลาด FMCG (สินค้าอุปโภค บริโภค) ก็ไม่ดี ในขณะที่สินค้าหลายอย่างแพงขึ้น ปัญหาคือคนมีรายได้เท่าเดิมซึ่งน้อยเกินไป หากจะเพิ่มกำลังซื้อจริง ๆ รัฐควรปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น”
แหล่งข่าวระดับสูงในวงการเครื่องดื่มรายหนึ่งระบุเพิ่มเติมว่า การที่ผู้ผลิตสามารถตรึงราคาเอาไว้ได้ในช่วงก่อนหน้า เป็นเพราะมีสต๊อกที่ผลิตก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จำนวนมาก เมื่อสต๊อกเก่าหมดสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นใหม่มีต้นทุนภาษีเพิ่มทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาขึ้น เพื่อผลักภาระให้ผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าประเภทกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม มีฐานลูกค้าหลักคือกลุ่มบลูคอลลาร์ (blue collar) เช่น คนขับรถบรรทุก รถแท็กซี่ ฯลฯ ซึ่งมีความอ่อนไหวเรื่องราคา แม้ในช่วงที่ผ่านมาหลายแบรนด์จะพยายามแตกเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมเพื่อเจาะคนรุ่นใหม่ หรือไวต์คอลลาร์ (white collar) เช่น คนทำงานออฟฟิศ มากขึ้นก็ตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้นำตลาดอย่างเบอร์ดี้ได้ออกมากระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายและยอดขายในช่วงต้นปีด้วยการทำโปรโมชั่นร่วมกับช่องทาง เช่น ล่าสุด โปรโมชั่นซื้อ 2 กระป๋อง ราคา 25 บาท จากปกติ 30 บาท สำหรับรสลาเต้ เอสเปรสโซ และแบล็ก ในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 23 มกราคมที่จะถึงนี้
ขณะที่ตลาดกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มในภาพรวม มีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท เบอร์ดี้เป็นผู้นำตลาดด้วยมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 70% และอื่น ๆ 30%