ไปได้ไกลเกินฝัน! สาวผันตัวทำรองเท้ายางพารา ช่วยชาวบ้านมีงานทำ นักธุรกิจดูไบสั่งออเดอร์ไม่อั้น

วันที่ 26 ม.ค. ที่บ้านเลขที่ 429/2 หมู่ 6 ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอินดี้รองเท้าแฮนด์เมดจากยางพารา ของนางพิมพ์ชนา ศรีจันทร์คง อายุ 42 ปี มีกลุ่มชาวบ้านในชุมชนอายุประมาณ 30-40 ปี เป็นผู้หญิงล้วนๆ กว่า 20 คน ทำรองเท้ากันอยู่โดยมีตัวอย่างของรองเท้าที่ทำเสร็จแล้ววางโชว์อย่างสวยงาม เป็นรองเท้าที่ทำจากยางพาราทั้งสิ้น และมีรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เลือก

โดยนางพิมพ์ชนา เล่าว่า สาเหตุที่ตนทำรองเท้าแฮนด์เมดยางพารานั้น ตนเรียนจบเคมีการยางจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.ภูเก็ต ไปทำงานห้องแล๊บของบริษัทโตไกรับเบอร์พาร์ท ของประเทศญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 4 ปี จากนั้นก็มาทำงานห้องแล๊บของบริษัทเมสันอินดักส์ของอเมริกา ประมาณ 13 ปี และตอนนั้นพ่อแม่ไม่มีใครดูแลและตนก็เป็นลูกคนเดียว ประกอบกับตนมีครอบครัว เลยตัดสินใจลาออกและกลับมาอยู่บ้านที่ อ.เชียรใหญ่ เพื่ออยู่กับครอบครัวและดูแลพ่อแม่

ตอนกลับมาอยู่บ้านใหม่ๆ เมื่อปี 2553 ก็ไม่รู้จะทำอะไรเลยเปิดร้านเสริมสวย แต่ก็เสียดายงานที่ทำเป็นอย่างมาก และเห็นสภาพชาวบ้านในชุมชนเดียวกันมีปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ และน้ำท่วมไม่มีรายได้ในการประทังชีวิต ตนก็นั่งคิดว่าจะทำอะไรดีที่พอที่จะมีรายได้โดยดึงชาวบ้านมาด้วย และบังเอิญไปเห็นเว็บไซต์ของต่างประเทศเกี่ยวกับรองเท้ายางพารา จึงสนใจและได้ติดต่อรองเท้ายางพาราแล้วนำมาตกแต่งเพิ่มมูลค่าและส่งขายราคาตั้งแต่ 250-450 บาท แล้วแต่คอลเลกชั่น ช่วงสั่งรองเท้ามา 10 โหลมีรายได้หมื่นกว่าต่อเดือน และหลังจากนั้นก็เริ่มเพิ่มขึ้นมีการส่งขายกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ

โดยการทำนั้น ตนจะสั่งรองเท้ายางพาราสำเร็จรูปมาและนำลูกปัดและสินค้าตกแต่งเป็นรูปแบบต่างๆ ก็ได้รับความสนใจในระดับหนึ่ง โดยตนได้ดึงชาวบ้านในชุมชน 22 คนมาเป็นลูกมือ โดยชาวบ้านจะมีรายดั้นละ 300 บาทขึ้นไป แล้วแต่ออดอร์ ในระยะแรกๆ และเมื่อถึงช่วงที่ทางหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีการทำตลาดหน้าพระธาตุในทุกวันเสาร์ก็มีคนมารับไปขาย แต่ทางหอการค้ามีนโยบายว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นเองไปขาย ตนก็เลยไปนั่งขาย โดยได้รับการตอบรับที่ดีมาก วันไหนถ้ามีทัวร์จีนหรือทัวร์ต่างชาติมาลงจะขายดีมากๆ จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีชาวไทยที่ได้สามีเป็นชาวดูไบ มาเดินเที่ยวตลาดหน้าพระธาตุ และมาซื้อไปใส่เอง พออีกเสาร์หนึ่งก็มาอีก และมาติดๆ กันหลายเสาร์ จึงมีการเจรจาซื้อถึง 5 พันคู่ และล่าสุดได้มีการสั่งเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ โดยจะทำแบรนด์คอลเล็กชั่นของดูไบเอง ซึ่งตรงนี้ตนดีใจมากเพราะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้ไปด้วยจากวันละ 300-400 บาท เป็น 600 บาทขึ้น

นางพิมพ์ชนา กล่าวอีกว่า ตอนนี้ทางหอการค้านครศรีธรรมราช ได้เข้ามาช่วยเรื่องการตลาด และตนก็จะผลิตรองเท้ายางพาราเอง โดยได้ไปประสานกับโรงงานที่ อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช จะรับซื้อน้ำยางสดที่สะอาดในชุมชนของเราโดยตั้งใจว่าจะซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดเพื่อช่วยชาวบ้านในชุมชนด้วยแล้วจะส่งไปให้โรงงานที่บางขันอบยางผสมให้แล้วแปรรูปออกมาเป็นรองเท้ายางพารา โดยจะทำเองหมดทุกขั้นตอนไม่ซื้อจากโรงงานที่กรุงเทพแล้ว โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการในอีก 7-8 เดือนข้างหน้านี้

จุดที่ทำให้รองเท้ายางพาราเป็นรู้จักและขายดีก็เป็นจุดที่ไปขายที่ตลาดหน้าพระธาตุเป็นการต่อยอดสินค้าอย่างมาก นอกจากตนแล้วยังมีอีก 22 ครอบครัวที่มีรายได้ โดยหนึ่งใน 22 ครอบครัวนั้นมีหญิงบกพร่องทางหูอยู่หนึ่งคนเค้าดีใจมากที่ได้มีรายได้ในแต่ละวัน โดยตนตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่มีอยู่จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในบริษัทเกี่ยวกับการแปรรูปยางของญี่ปุ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยทำกันเป็นชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งต้องขอขอบคุณหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ให้โอกาสธุรกิจชุมชนอย่างตนด้วย ซึ่งยางพารายังทำอะไรได้อีกเยอะ สามารถนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้หากมีความตั้งใจที่จะทำตรงนี้

ด้าน นายกรกรก เตติรานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จริงๆ แล้วเราได้เริ่มกับชุมชนกลุ่มนี้ในรูปแบบ 1 ชุมชน 1 บริษัท โดยได้ผลักดันให้เปิดตลาดในตลาดหน้าพระธาตุ เพราะเล็งเห็นว่าสามารถเปิดตลาดในกลุ่มสินค้ายางพาราได้และขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลตอบรับที่ได้มามาจากนักธุรกิจต่างประเทศที่มาเที่ยวตลาดหน้าพระธาตุ และคิดว่าจะสามารถขยายผลต่อไป