ศธ.ติงบริษัทอย่าเหมารวม ‘มทร.-มรภ.-เอกชน’ ไร้คุณภาพ

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่เฟซบุ๊ก “นับหนึ่ง ครับผม ครับผม” เผยแพร่ข้อความอีเมลที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งตอบปฏิเสธการรับเข้าทำงานด้วยข้อความว่า “บริษัทไม่สะดวกรับพนักงานวุฒิปริญญาตรี ที่จบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)/มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)/มหาวิทยาลัยเอกชน” ว่า ส่วนตัวคิดว่าขณะนี้ มรภ.และมทร.ปรับตัว พัฒนาการเรียนการสอนไปในทิศทางที่ดี ตามปรัชญาในการเป็นที่พึ่งของชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้ทุกมหาวิทยาลัยมีมาตรฐานกำกับ ทุกแห่งมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ดังนั้น บริษัทเอกชน จึงไม่ควรมีความคิดแบบเหวี่ยงแหว่าเด็กที่จบจากมรภ.หรือมทร.ไม่มีคุณภาพ บริษัทเอกชนไม่ควรใช้ทัศนคติแบบนี้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน แต่ควรพิจารณาจากทักษะ ความสามารถเป็นรายบุคคล เพราะมีหลายคนแม้จะจบจากมรภ. หรือมทร. แต่ก็สามารถทำงานบางอย่างได้ดีกว่าเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ

“ผมไม่อยากให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทเอกชน มีทัศนคติเลือกสถาบันในการรับคนเข้าทำงาน เพราะทุกแห่งมีมาตรฐานกำกับ เราการันตีสถาบันได้ แต่คงไม่สามารถการันตีผู้ที่จบได้ ดังนั้นเอกชนควรคัดเลือกคนเข้าทำงาน จากทักษะของแต่ละคน ไม่ใช่เหวี่ยงแห่ว่าไม่รับคนจบจากสถาบันใด” นพ.อุดมกล่าว
ด้านนายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี ในฐานะเลขานุการที่ประชุมอธิการบดีมทร. กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจในคุณภาพของเด็กที่จบจากมทร. ทั้ง 9 แห่ง เพราะเรามีการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนเน้นสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นที่พอใจ ของสถานประกอบการทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เช่น เด็กที่จบจากมทร.ธัญบุรี พบว่า เด็กที่จบไปมีงานทำถึง 87% กว่า ขณะที่ 20% มีงานทำก่อนจบการศึกษา และกว่า 50% ของผู้มีงานได้รับเงินเดือนสูงกว่าวุฒิที่จบ ขณะที่ 3-4% มีโอกาสได้ไปทำงานในต่างประเทศ

“ส่วนตัวได้ทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่า เด็กที่โพสต์ข้อความจบจากสถาบันใด อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล และไม่แน่ใจว่าบริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แต่คิดว่าการดำเนินการคัดเลือกคนเข้าทำงานเช่นนี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไป โดยเฉพาะการมาตัดสินว่าสถาบันการศึกษาไม่มีคุณภาพ ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะทุกวันนี้มทร.เองปรับตัวพัฒนาการเรียนการสอน เน้นสมรรถนะด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งสำคัญต่อการประกอบอาชีพในอนาคต” นายประเสริฐกล่าวและว่า ทั้งนี้ยอมรับว่า การคัดคนเข้าทำงานโดยพิจารณาจากสถาบันมีจริง แต่ก็ยังมีสถานประกอบการและบริษัทเอกชนจำนวนมากไม่ได้มองเรื่องสถาบัน แต่จะมองว่าเด็กมีทักษะอย่างไร ทำงานอะไรได้บ้างเป็นสำคัญ

ด้านนายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า เรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น โดยกรณีนี้แค่เป็นกระแส อย่างธนาคารแห่งหนึ่งไม่รับเด็กที่จบจากมรภ. แต่สุดท้ายก็พบว่าเป็นทัศนคติของบุคลากรบางคน ไม่ใช่นโยบายธนาคาร ซึ่งกรณีนี้ตนเห็นว่าจะเป็นลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตามในส่วนของมรภ. มีการหารือและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนตลอดเวลา ทำอย่างไรจะผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะในสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่จะต้องเน้นคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก

“ส่วนตัวคิดว่า ไม่น่าจะมีบริษัทเอกชน หรือที่ไหนคิดแบบนี้อีก เพราะปัจจุบันการคัดเลือกคนเข้าทำงาน จะดูที่ทักษะ ความสามารถของแต่ละคนมากกว่าจะดูว่าจบจากสถาบันอะไร ซึ่งเชื่อว่าทุกสถาบันมีคุณภาพ ขณะที่ปัจจุบันการเรียนการสอนเปิดกว้างขึ้น นอกจากเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเด็กยังสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากโซเชียลมีเดียต่างๆ อีกด้วย” ประธานทปอ.มรภ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเฟซบุ๊ก “นับหนึ่ง ครับผม ครับผม” โพสต์ข้อความดังกล่าว ก็ได้ลบข้อความออก และโพสต์ข้อความใหม่ว่า “จริงๆแล้วสิ่งที่ผมโพสต์ลงไป แค่อยากให้ตระหนักว่าการรับคนเข้าเป็นบุคลากรในองค์กรนั้นๆ ยังมีการแบ่งแยกสถาบันอยู่เท่านั้น ใช่ว่า สถาบันของรัฐ ราชมงคล ราชภัฏ หรือ เอกชน จะด้อยความสามารถไปกว่าสถาบันที่มีชื่อเสียงซะเมื่อไหร่ จึงอยากให้มีบรรทัดฐานในการคัดกรองบุคลากรเข้าทำงานที่เท่าเทียมกันไม่แบ่งเกรดสถาบันกันเท่านั้น” และอีกอย่างก็ไม่ได้อยากดังด้วยเน้อ!!

อ่านเพิ่มเติม

วิจารณ์สนั่น หนุ่มยื่นสมัครงาน ถูกตอกกลับไม่สะดวกรับคนจบราชภัฏ-ราชมงคล-เอกชน