นักเรียนโคราชเจ๋งผลิตหน้ากากอนามัยจากต้นกัญชงคุณภาพสูง กรองมลพิษเยี่ยม

วันที่ 26 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากปัญหามลพิษทางอากาศในปัจจุบันที่สามารถส่งผลอันตรายแก่ร่างกายมนุษย์ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้รถใช้ถนนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน จนเป็นเหตุให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองและควันจากท่อไอเสียรถยนต์ที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้โดยง่ายทางการหายใจ หากไม่มีการป้องกันที่ดีก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หน้ากากอนามัยจึงเป็นอีกตัวช่วยในการป้องกันมลพิษและเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมทางอากาศ รวมทั้งเชื้อโรคจากผู้อื่นและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จึงทำให้วงการแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้คนทั่วไปใช้หน้ากากอนามัย โดยมีการศึกษาพบว่าหน้ากากอนามัยนั้นช่วยกรองเชื้อโรคได้ถึง 80%

นายบุญเลิศ พ่วงเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดโครงการพัฒนาส่งเสริมวิชาการ(OCOP) ขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งบุคลากรภายในและภายนอกสถานศึกษา ให้เกิดความพร้อมและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านการศึกษา จัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติงาน เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย มีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบที่ประสบความสำเร็จ คือกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน ซึ่งในแต่ละปีการศึกษาทางโรงเรียนจะจัดให้นักเรียนได้ทำโครงงานภายใต้โครงการ “หนึ่งห้อง หนึ่งโครงงานร่วมบูรณาการ 8 กลุ่มสาระ” ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละชั้น ได้นำเสนอผลงานที่ได้เรียนรู้มา ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการกว่า 50 ผลงาน

หนึ่งในผลงานของน้องๆ นักเรียนที่น่าสนใจ ซึ่งได้นำมาจัดแสดงครั้งนี้คือโครงงาน “THE MASK SATIVA” หรือหน้ากากผ้ากัญชง ผลงานการวิจัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยการนำเอาผ้าใยกัญชงมาประยุกต์ใช้ตัดเย็บเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากโครงงานของน้องๆ นักเรียนในครั้งนี้ พบว่าคุณสมบัติของผ้าใยกัญชงเกิดการตกตะกอนของฝุ่นละอองน้อยที่สุด หากเทียบกับผ้าฝ้ายและผ้าใยบัว จึงเป็นผลลัพธ์ในการเลือกผ้ากัญชงมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากกรองอากาศได้ดี กันฝุ่นควัน ช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สารพิษ และเชื้อโรค อีกทั้งเป็นการลดทรัพยากรอีกด้วย

น.ส.ดุสิตา ตันจินดาประทีป นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 กล่าวว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้กันปัจจุบันจำนวนมากไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงอยากคิดค้นหน้ากากอนามัยที่สามารถกันฝุ่นละอองและสามารถนำกับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งน่าจะทำให้ประหยัดทรัพยากรมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นจึงเริ่มศึกษาชนิดของผ้า ที่สามารถกรองอากาศและระบายอากาศได้ดี จากการศึกษาพบว่าผ้ากัญชงสามารถกรองอากาศได้ดี จึงนำผ้ากัญชงนั้นมาประยุกต์ใช้เป็นหน้ากากอนามัย ซึ่งต้นกัญชงเป็นพืชล้มลุกเปลือกของต้นลอกออกได้ง่าย มีความเหนียว ทำให้เส้นใยที่ได้ยาวและมีคุณภาพสูง ปกติแล้วนิยมปลูกเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อเป็นเส้นใยใช้ในการถักทอ

สำหรับต้นกัญชงจะมีลักษณะคล้ายกับต้นกัญชาแต่จะไม่มีสารเสพติด ในการนำเส้นใยกัญชงมาประยุกต์ใช้แรกเริ่มนั้นเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของทางภาคเหนือ เมื่อนำผ้าใยกัญชงมาทำการทดสอบคุณสมบัติจากการกรองอากาศ โดยดูจากปริมาณการตกตะกอนของน้ำปูนใสเมื่อปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละอองให้กรองผ่านผ้า เปรียบเทียบกับผ้าอีก 2 ชนิดคือผ้าฝ้าย และผ้าใยบัว ปรากฏผลการทดลองว่าผ้าใยกัญชงมีคุณสมบัติในการกรองอากาศดีที่สุด

สำหรับวิธีการประดิษฐ์หน้ากากกัญชงและการตัดเย็บ ทางพวกเราได้แบ่งหน้าที่กันทำงานโดยแบ่งได้ 2 ส่วนคือ ทำไส้ไก่แทนยางยืดกับทำหน้ากากอนามัย วิธีการในการทำไส้ไก่แทนยางยืด 1.ตัดผ้าให้เป็นชิ้นยาวประมาณ 15 นิ้ว กว้าง 1 นิ้วครึ่ง จำนวน 4 เส้น 2.พับริมเข้าหากันตามความกว้างแล้วทบอีกครั้ง 3.เย็บตามแนวยาวตลอดจนสุดผ้า 4.นำผ้าที่ได้ทั้ง 4 เส้นมาเย็บมุมทั้ง 4 มุมแทนยางยืด วิธีการทำหน้ากากอนามัย 1.นำผ้าที่เตรียมไว้มาพับครึ่งตามความยาวผ้าแล้วพับจับจีบทวิต ขนาด 1 นิ้วตรงกลางผ้า กลัดเข็มหมุดหรือเนาตรึงไว้ ทำอีกชิ้นเช่นเดียวกัน 2.นำผ้าที่พับไว้ตามข้อ 1 มาวาง โดยหันด้านนอกขึ้นและนำยางยืดมาวางที่มุมผ้าด้านกว้าง ข้างบนและข้างล่างด้านละ 1 เส้น กลัดเข็มหมุดหรือเนาตรึงไว้ 3.นำผ้าที่พับไว้อีกชิ้นมาวางซ้อนกับผ้าชิ้นแรกที่ตรึงยางยืดไว้ โดยหันผ้าด้านนอกชนกัน แล้วเย็บจักรหรือด้นถอยหลังรอบผืนผ้าสี่เหลี่ยม ให้ห่างจากริมผ้าด้านละครึ่งเซนติเมตร โดยเว้นช่องว่างไว้กลับตะเข็บยาวประมาณ 1 นิ้ว ถือเป็นผลงานของเด็กๆนักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์จนก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะสำหรับการนำไปใช้ได้จริง