ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กระทรวงแรงงานตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ใช้สูตรใหม่ชั่งน้ำหนัก 10 ปัจจัยชี้ขาดให้ขึ้นไม่ขึ้น เผย 15 จังหวัดเฮ ! บอร์ดไตรภาคีค่าจ้างส่งสัญญาณไฟเขียวให้ปรับเพิ่มจาก 300 เป็น 304-360 บาท/วัน 1 ม.ค. 60 ส่วน 62 จังหวัดที่เหลือต้องรอลุ้น
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง อยู่ระหว่างพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำซึ่งจะนำมาใช้ในปี 2560 หลังจากก่อนหน้านี้เคยพิจารณาข้อเสนอขอปรับค่าแรงขั้นต่ำที่อนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดรวม 6 จังหวัด แต่ชะลอดำเนินการออกไปเนื่องจากมองว่าสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม และให้อนุกรรมการทั้ง 6 จังหวัด นำกลับไปทบทวนแล้วเสนอมาใหม่ ล่าสุดจากข้อมูลผลสรุปของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า มี 13 จังหวัดเสนอขอปรับค่าแรงขั้นต่ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณา ภายใน 1 เดือนจากนี้ไปจะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะประกาศปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในจังหวัดใดบ้าง
ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ หากจังหวัดใดต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเติม คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดต้องจัดทำข้อมูลรายละเอียดเสนอมายังกระทรวงแรงงาน ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ จะได้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอน โดยจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
สำหรับ 13 จังหวัดที่อนุกรรมการค่าจ้างขอให้ปรับขึ้นค่าจ้าง ประกอบด้วย 1.เพชรบูรณ์ 2.สกลนคร 3.พระนครศรีอยุธยา 4.ฉะเชิงเทรา 5.ปราจีนบุรี 6.ชลบุรี 7.กระบี่ 8.ภูเก็ต 9.นราธิวาส 10.อ่างทอง 11.สระบุรี 12.ปทุมธานี และ 13.สมุทรสาคร ส่วนอีก 64 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุกรรมการระดับจังหวัดไม่ได้เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้ในส่วนของ 11 จังหวัดแรกเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2 อัตรา โดยฝ่ายนายจ้างเสนอปรับค่าจ้างขึ้นวันละ 15 บาท ขณะที่ลูกจ้างเสนอปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 60 บาท ขณะที่ภาพรวมการขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 4-60 บาท
ม.ล.ปุณฑริกกล่าวว่า การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้นอกจากจะมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานร่วมพิจารณา ในรูปของอนุกรรมการเฉพาะกิจ อาทิ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงพาณิชย์ นักวิชาการ รวมทั้งตัวแทนลูกจ้างและนายจ้างแล้ว สูตรที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณายังเป็นสูตรใหม่ โดยนำปัจจัยต่าง ๆ รวม 10 ปัจจัย มาชั่งน้ำหนัก ได้แก่ 1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ 2.ข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ 3.อัตราเงินเฟ้อ 4.มาตรฐานการครองชีพ 5.ต้นทุนการผลิต 6.ราคาสินค้าและบริการ 7.ความสามารถของธุรกิจ 8.ผลิตภาพแรงงาน 9.ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และ 10.สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
ดังนั้นนอกจาก 13 จังหวัดที่อนุกรรมการระดับจังหวัดเสนอขอปรับขึ้นค่าแรงแล้ว หากอนุกรรมการเฉพาะกิจเห็นว่ามีจังหวัดอื่น ๆ ที่เห็นควรให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย โดยนำ 10 ปัจจัยดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่าย อนุกรรมการเฉพาะกิจอาจเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงพร้อม 13 จังหวัดแรกด้วยก็ได้ ทั้งนี้ เบื้องต้นอาจประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 300 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมรวมทั้งหมด 15 จังหวัด โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมประกาศใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา
ส่วนแต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นเท่าใดนั้นพิจารณาตามสภาพพื้นที่ สภาพข้อเท็จจริงของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ความสามารถของนายจ้าง ฯลฯ อาจปรับขึ้นแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากองค์ประกอบหลาย ๆ ปัจจัยแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ เพราะโดยหลักการเมื่อนำปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาตามสูตรตัวเลขจะออกมาว่าควรปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน เป็นหลักวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ อนุกรรมการเฉพาะกิจจึงต้องพิจารณาด้วยว่า ทั้ง 15 จังหวัดที่มีแนวโน้มว่าจะให้ปรับขึ้นค่าแรงควรปรับขึ้นในอัตราเท่า ๆ กันจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 360 บาทต่อวันทั้งหมด หรือปรับขึ้นมากน้อยตามความเหมาะสมและสภาพความเป็นจริงแต่ละจังหวัด
สำหรับข้อเสนอของฝ่ายลูกจ้างก่อนหน้านี้ที่ขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก60 บาท เป็น 360 บาทต่อวัน โดยหยิบยกเหตุผลสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก อยู่ที่อนุกรรมการเฉพาะกิจจะพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) พิจารณาก่อนนำไปออกประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ