เกษตรฯ บูม “มันสำปะหลังอินทรีย์” ขยายช่องทางชาวไร่ทำเงิน

กรมวิชาการเกษตรหนุนชาวไร่เมืองดอกบัวขยายพื้นที่ปลูก “มันสำปะหลังอินทรีย์” ดึงโรงงานแป้งมันร่วม แจมรองรับผลผลิต ชี้ความต้องการหัวมันอินทรีย์สดปีละกว่า 80,000 ตัน มุ่งเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกร พร้อมขยายช่องทางทำเงินเพิ่มรายได้

​นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 (สวพ.4) จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโรงงานแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน ในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์นำร่องในพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอนาเยีย พิบูลมังสาหาร และวารินชำราบ โดยมุ่งผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ หรือออร์แกนิก (Organics) ป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันที่มีความต้องการหัวมันอินทรีย์สด ปีละกว่า 80,000 ตัน ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นแป้งมันได้ ประมาณ 20,000 ตัน

ขณะนี้แปลงเกษตรกรต้นแบบผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ จำนวน 9 ราย พื้นที่กว่า 36 ไร่ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวมันสดป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันแล้ว ภายหลังเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ 1 ตัน/ไร่ หรือใส่ตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยด้วยปุ๋ยชีวภาพ PGPR3 การปลูกและไถกลบปอเทืองระหว่างร่องมันเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด การใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และการใช้เครื่องกำจัดวัชพืชแบบรถไถเดินตาม สามารถช่วยให้เกษตรกรต้นแบบได้ผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เฉลี่ยต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นจาก 4.5 ตัน/ไร่ เป็น 5.4 ตัน/ไร่ บางรายได้ผลผลิตสูงถึง 7.63 ตัน/ไร่ และยังมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงด้วย

​”ปี 2561 นี้คาดว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มอีกอย่างน้อย 100 แปลง พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มขึ้น พร้อมจัดกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรจะได้รวมกลุ่มกันเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มได้ ที่สำคัญการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับชาวไร่ และช่วยลดการผันผวนด้านราคาเนื่องจากได้ราคาที่แน่นอน ตลอดจนช่วยลดพื้นที่การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชอย่างยั่งยืนด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกับนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการผลักดันการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ด้วย” นายสุวิทย์กล่าว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า มันสำปะหลังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งอาหารและพลังงาน เป็นสินค้าที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะแป้งมันออร์แกนิกสามารถผลิตเป็นอาหารสำหรับทารกและผู้สูงอายุ รวมถึงแคปซูลยา ซึ่งเป็นที่นิยมในแถบสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความต้องการแป้งมันออร์แกนิกสูงถึง 20,000 ตัน/ปี ซึ่งจะต้องมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ประมาณ 22,850 ไร่ จึงจะสามารถผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานแป้งมันได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ การขยายพื้นที่การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในประเทศไทยเพื่อป้อนตลาดแป้งมันออร์แกนิก จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังที่จะเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ที่มีศักยภาพ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 445,649 ไร่ ส่วนหนึ่งสามารถที่จะปรับเปลี่ยนมาผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ได้