สปส.เล็งเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพผู้ประกันตน ให้เข้ารับบริการได้ทุกรพ. ค่อยเบิกจ่ายทีหลัง

ความคืบหน้ากรณีกรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ วัยเด็กและวัยรุ่น 0-18 ปี วัยทำงาน 18-60 ปี วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเป็นบรรทัดฐานการตรวจสุขภาพของทั้งสามกองทุนสุขภาพ

นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แนวทางการตรวจสุขภาพประจำปีดังกล่าวเป็นของประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ได้เจ็บป่วย ซึ่งหากเจ็บป่วยจะเป็นการตรวจรักษาอีกอย่างหนึ่ง สำหรับแนวทางการตรวจสุขภาพที่ทำขึ้นนี้ ขณะนี้มีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่นำไปเป็นแนวทางในการประกาศใช้สิทธิการตรวจสุขภาพเมื่อ ม.ค. 2560 ส่วนข้อเรียกร้องที่เครือข่ายด้านแรงงานมองว่าควรมีการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับการทำงานด้วยนั้น หากเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป แนวทางการตรวจสุขภาพอันนี้ถือว่าเพียงพอ ส่วนการทำงานอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในด้านต่างๆ นั้น แนวทางการตรวจสุขภาพก็ระบุชัดเจนว่าให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงของการทำงานหรืออาชีวอนามัยด้วย ซึ่งตรงนี้ขึ้นกับทาง สปส.ว่าจะมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้ครอบคลุมแต่ละอาชีพหรือไม่

ด้าน นางนงลักษณ์ กอวรกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สิทธิการตรวจสุขภาพ ประกันสังคมก็ยึดตามแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมที่กรมการแพทย์จัดทำขึ้น เพราะผ่านการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญ ราชวิทยาลัยต่างๆ แล้วว่ามีความเหมาะสมกับช่วงอายุต่างๆ ซึ่ง สปส.ก็ดึงในส่วนของคนวัยทำงานมาออกประกาศกำหนดสิทธิตรวจสุขภาพ ซึ่งในประเด็นเรื่องของผู้แทนแรงงานเรียกร้องให้มีการตรวจสุขภาพในส่วนของความเสี่ยงจากการทำงานนั้น ต้องชี้แจงว่า สิทธิการตรวจสุขภาพนี้เป็นการตรวจในคนปกติที่มีสุขภาพที่ดี ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้ประกันตนควรได้รับ แต่ในเรื่องของตรวจความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพนั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่จะต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพในส่วนที่มีความเสี่ยงในการทำงาน

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้แทนแรงงานมีการระบุว่าเกณฑ์ในการตรวจสุขภาพไม่เหมาะสม ทาง สปส.ก็รับไว้พิจารณา โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งบางส่วนก็มีการปรับปรุงไปแล้ว ซึ่งในการพิจารณานั้นก็จะพิจารณาว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นมีหลักฐานทางวิชาการที่ว่าเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนจริงหรือไม่ อย่าง เรียกร้องให้ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็ต้องมาดูหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งมีทั้งคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา และอาจเสนอมายังคณะทำงานของกรมการแพทย์ในการศึกษาว่าเป็นประโยชน์และเหมาะสมจริงหรือไม่ ซึ่งหากมีข้อมูลว่าเหมาะสม เราก็พร้อมปรับปรุงเพิ่มสิทธิให้” นางนงลักษณ์ กล่าว

นางนงลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ทำการตรวจสุขภาพให้แก่ผู้ประกันตนนั้น หากเป็นการตรวจร่างกายตามระบบจะอยู่ในส่วนของงบเหมาจ่ายที่ให้แก่โรงพยาบาล แต่หากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการก็จะมีการจ่ายเงินชดเชยเป็นค่าภาระงานให้แก่โรงพยาบาลในอัตรา 500-600 บาท และอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะนำอัตราของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาปรับใช้ด้วย นอกจากนี้ จะเสนอให้มีการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ และมาเบิกจ่ายกับ สปส.ภายหลัง ไม่จำเป็นต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิ เพื่อชักชวนให้ รพ.เอกชนที่มีศักยภาพในการรับผู้ประกันตนไปตรวจสุขภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระของ รพ.รัฐ และนอกจากการตรวจสุขภาพ สปส.จะทำงานเชิงรุกในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคคือ การดูแลโรคเรื้อรัง โดยขอกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และ สปส. ดูแลกลุ่มคนตรวจสุขภาพแล้วเจอภาวะผิดปกติ เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน และวิจัยสร้างโมเดลให้โรงพยาบาลขยับออกไปดูแลเชิงรุกในโรงงาน หรือให้โรงงานมีความพร้อมดูแลสุขภาพลูกจ้าง

ด้าน นายวัฒนา บุญญรักษ์ธัญญา ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เดิมการตรวจสุขภาพจะไม่ครอบคลุมครอบครัวของผู้มีสิทธิ จึงต้องไปใช้ตรวจสุขภาพของสิทธิบัตรทองแทน กรมบัญชีกลางจึงอยู่ระหว่างการขยายสิทธิให้ครอบคลุม แต่ที่ผ่านมาพบว่าบางรายการไม่เอื้อต่อการเบิกจ่ายเงิน จึงชะลอการขยายไว้ก่อนที่จะปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังรอทาง สปสช.ที่อยู่ระหว่างการทบทวนรายการตรวจสุขภาพ ซึ่งหาก สปสช.ดำเนินการแล้วเสร็จ กรมบัญชีกลางจะนำมาเทียบเคียงกับแนวทางการตรวจสุขภาพของกรมการแพทย์ เพื่อขับเคลื่อนเป็นรายการตรวจสุขภาพสำหรับสิทธิข้าราชการและครอบครัวต่อไป ในระบบเบิกจ่ายตรง ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการควบคุมด้วย เพื่อไม่หใการตรวจสุขภาพที่ซ้ำซ้อน โดยอาจใช้ระบบของการพิสูจน์ตัวตนผ่านบัตรประชาชน

ที่มา : มติชนออนไลน์