เอกชนเสนอทบทวนมติขึ้นค่าแรง ชี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง หวั่นทำคนตกงานเพิ่ม

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร. มีมติขอให้รัฐบาลทบทวนการปรับอัตราค่าจ้างใหม่ที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง โดยให้ยึดตามคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด แต่ละจังหวัด และตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยจะนำมติดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 23 ม.ค. นี้

สาเหตุที่ กกร. เห็นว่าควรให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงเป็นหน้าที่ของอนุกรรมการฯ และมาตรา 87 นั้น เพราะจะมีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของแต่ละจังหวัดมากกว่าการนำเอาการนำอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในภาพรวมของประเทศไปคำนวณ ซึ่งคาดว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคบริการและผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และจะทำให้อัตราว่างงานสูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ และเมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศโดยรวม รวมทั้งค่าครองชีพก็สูงขึ้นตามค่าแรงที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อประชาชน

นายกลินท์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นดังกล่าว กกร. ได้ทำการสำรวจภาคธุรกิจ ถึงผลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ พบว่ากว่า 92% หรือประมาณ 35 จังหวัด ไม่เห็นด้วยกับมติการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง เนื่องจากหลายจังหวัดที่ปรับเพิ่มขึ้นมา ไม่ได้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของจังหวัด เช่น จังหวัดระยอง ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดได้พิจารณาไว้ ให้คงไว้ที่ 308 บาทต่อวัน แต่กลับมีมติให้ขึ้นถึง 330 บาทต่อวัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะภาคการเกษตร และเอสเอ็มอี ซึ่งมีสภาพคล่องที่ต่ำและยังมีเงินทุนไม่มากนัก ดังนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนแรงงาน และการผลิต สุดท้ายจะส่งผลให้เกิดการว่างงานสูงขึ้น เพราะผู้ประกอบการเห็นว่าเมื่อค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้หันมาใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลมีโครงการในการพัฒนารวมถึงยกระดับเพิ่มผลิตภาพ และศักยภาพแรงงานอย่างจริงจังด้วย

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มี 28 จังหวัด ที่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างใหม่ และมีอีก 11 จังหวัดที่ไม่ขอตอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ทบทวนมติใหม่ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาและดูแลภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น เพราะอัตราดังกล่าวสูงกว่าความเห็นของคณะอนุกรรมการค้าจ้างจังหวัดที่มีข้อมูลพื้นฐานทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมดีกว่า รวมถึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดไว้

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางที่ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ทั่วประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ เพราะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นตามมติคณะกรรมการค่าจ้างกลางฯ 5-22 บาท หรือ 1.64-7.14% จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการเกษตร ภาคบริการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจำนวนมาก

ส่วนกรณีมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นช่วงต้นปี 2562 นั้น มองว่าไม่น่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ เพราะมีเหตุผลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องสามารถอธิบายให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) เข้าใจได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาตามข้อกฎหมาย ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์