เทสินเชื่ออุ้มเอสเอ็มอีปี’61 เฉียด 8 หมื่นล้าน

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประจำปี 2561 วงเงินรวม 78,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้เริ่มทยอยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เอสเอ็มอี วงเงิน 78,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นมีเอสเอ็มอียื่นคำขอเชื่อโครงการสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 50,000 ล้านบาทแล้ว 100-200 ราย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปรรูป การท่องเที่ยวภูมิภาค มั่นใจว่าภายในปีนี้จะสามารถอนุมัติสินเชื่อให้เอสเอ็มอีได้ประมาณ 50,000-80,000 ราย

นอกจากนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม สั่งการให้กระทรวงจัดทำรายละเอียดเพื่อขออนุมัติงบกลางปี 2561 วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมวงเงินที่จะขออนุมัติโครงการ อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์เอสเอ็มอี การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม คาดจะเสนอรมว.อุตสาหกรรม พิจารณาได้ภายในเดือนม.ค.นี้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ปีนี้มีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี วงเงินการปล่อยสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท รวมทั้งสินเชื่อเพื่อสนับสนุนกลุ่มจุลเอสเอ็มอี (ผู้ประกอบการรายย่อยคนตัวเล็ก) วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ในช่วง 3 ปีแรก โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% และโครงการสินเชื่อแฟคตอริ่ง 12,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาพิจารณาอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้เฉลี่ย 70,000-80,000 ราย
อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เอสเอ็มอีแบงก์ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้ 70,000 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อรวมสิ้นปีนี้คาดอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตั้งเป้าหมายลดลงเหลือ 15,100 ล้านบาท ควบคู่กับการปรับปรุงการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ (โมบายแบงก์กิ้ง) และจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนจากเอสเอ็มอีแบงก์ได้มากขึ้น