รวยได้…ด้วยน้ำปลา! เวียดนามผุด “มหาเศรษฐี” น้ำปลา-ซอสพริก-บะหมี่

เปิดอาณาจักรธุรกิจชาวเวียดนาม “Masan Group” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ พาไปรู้จักผู้ก่อตั้งมหาเศรษฐีพันล้านเหรียญสหรัฐ ที่เริ่มธุรกิจมาจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

สำนักข่าวบลูกเบิร์กรายงานว่า “Masan Group” บริษัทธุรกิจในตลาดหุ้นเวียดนามที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งที่ทำธุรกิจด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เเละมีสินค้าที่เป็นที่นิยมอย่างน้ำปลาที่ใช้กันอย่างเเพร่หลายในอาหารเวียดนาม

ล่าสุดมีรายงานว่า หุ้นของ Masan Group เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเทียบได้กับ 37% ที่ได้รับจากดัชนีหุ้นของเวียดนาม ซึ่งมูลค่าสุทธิของราคาหุ้นที่นาย “Nguyen Dang Quang” ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทถืออยู่นั้นมีมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับตามดัชนี Bloomberg Billionaires Index

“David Anjoubault” ผู้จัดการทั่วไปของกันตาร์ เวิล์ดพาแนล เวียดนาม ผู้นำด้านการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึก กล่าวว่า Masan เป็นบริษัทที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องใช้ อาทิ น้ำปลา ซึ่งเวียดนามนิยมใส่ในก๋วยเตี๋ยวหรือเเม้เเต่ของหวาน โดย 95% ของครัวเรือนในประเทศใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์

“Masan มีความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการเเละพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศ นั่นอาจเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของบริษัท”

กันตาร์ เวิล์ดพาแนล เปิดเผยการวิจัยเเละจัดอันดับพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคพบว่า Masan ติด 1 ใน 3 ของกลุ่มเเบรนด์อาหารในเวียดนามที่มีกลุ่มผู้บริโภคตัดสินใจซื้อมากที่สุดเมื่อปีที่เเล้ว รวมทั้งยังมี Unilever NV และ Vietnam Dairy Products หรือ Vinamilk ร่วมด้วย

นาย Quan ควบคุมบริษัทในเมืองโฮจิมินห์ผ่านบริษัท Masan Corp. รวมถึงบริษัทในเครือ Sunflower Construction Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น ทั้งหมดตามเอกสารที่บริษัทยื่นต่อกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ซึ่งนาย Quang และภรรยามีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 49% ในบริษัท

ก่อนจะมาเป็นอาณาจักร Masan Group นาย Quang เริ่มต้นธุรกิจในปี 1990 โดยเขาจบปริญญาโทจาก Plekhanov Russian University of Economics มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจในรัสเซีย นอกจากนี้ยังได้รับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ศาสตร์จาก National Academy of Sciences ของเบลารุสอีกด้วย

โดยเว็บไซต์ของ Masan เปิดเผยว่า ในสมัยนั้นที่เขายังอยู่ที่รัสเซีย ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนเเปลงทางเศรษฐกิจ จึงเริ่มขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้กับชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในเมือง เเละในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างโรงงานผลิตได้กว่าเดือนละ 30 ล้านห่อต่อเดือน และยังขยายกำลังการผลิตไปในกลุ่มซอสถั่วเหลือง ซอสพริก เเละน้ำปลา ภายหลังจากประสบความสำเร็จในรัสเซีย ก็ได้กลับมาที่เวียดนามในปี 2011 เเละมุ่งไปที่ธุรกิจในประเทศ

สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทที่เป็นที่รู้จัก คือน้ำปลายี่ห้อ “Chin-Su” เเละ “Nam Ngu” อีกทั้งยังมีอาหารเเปรรูปจากเนื้อสัตว์ รวมถึงบริษัทยังเป็นเจ้าของธนาคารเพื่อการพาณิชย์และเทคโนโลยีเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Techcombank ธนาคารชั้นนำที่ให้บริการโซลูชั่นทางการเงินระดับโลกแก่ลูกค้าระดับบน

ด้านนาย Ho Hung Anh รองประธานเเละผู้ร่วมก่อตั้ง Masan Group ถือหุ้นในบริษัทประมาณ 47.6% ตามรายงานเมื่อเดือนกันยายนปี 2015 ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมพัฒนาบริษัทมาตั้งเเต่เริ่มต้น มีส่วนช่วยในการพัฒนาเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งนี้ปัจจุบันหุ้นในบริษัทของเขายังไม่ถูกคำนวนเเต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่ทราบข้อมูลเเน่ชัด

จากการรายงานของบริษัท พบว่า บริษัทฟื้นตัวขึ้นจากความผันผวนในปีที่ผ่านมา จากปัญหาราคาหมูในประเทศลดลง เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติราคาหมูรุนเเรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลมาจากจีนยกเลิกการนำเข้าเนื้อหมูจากเวียดนามในปี 2016 ทำให้รายได้ของกลุ่มบริษัทลดลงกว่า 9% เหลิอเพียง 27.5 ล้านล้านดอง ในช่วง 9 เดือนเเรกของปีที่ผ่านมา

นายวู ซวน โท นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Korea Investment & Securities ในกรุงโซลกล่าวว่า ราคาหมูปรับตัวดีขึ้นเมื่อจีนกลับมานำเข้าหมูจากเวียดนามอีกครั้ง เเละเป็นที่คาดหวังว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่ม Masan ดีขึ้นในปีนี้

Korea Investment & Securities เปิดเผยว่า Masan Group ได้รับเงินลงทุนราว 250 ล้านดอลลาร์ในปีที่เเล้วจากบริษัทกองทุน KKR & Co มีสำนักงานใหญ่ที่นครนิวยอร์ค โดยเงินจำนวน 150 ล้านดอลลาร์ถูกนำเข้าสู่ธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์ “Masan Nutri-Science” นับเป็นรอบที่ 3 ที่มีการร่วมลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมลงทุนกันตั้งเเต่ปี 2011 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 159 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นข้อตกลงซื้อขายครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

 

 

ภาพจาก www.vir.com.vn