ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนเกือบ 5,000 คน/วัน เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเพื่อดำน้ำ จนทำให้เหล่านักวิชาการและประชาชนชาวพังงาเกิดความไม่สบายใจเนื่องจากเกรงว่าหากไม่มีการควบคุมดูแลอย่างจริงจัง สภาพแวดล้อมธรรมชาติอันสวยงามของเกาะสิมิลันจะต้องทรุดโทรมในไม่ช้าอย่างแน่นอน ปริมาณนักท่องเที่ยวที่มายังเกาะสิมิลันมีมาก และจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมของการท่องเที่ยวใน จ.พังงา ทำให้หลายภาคส่วนเริ่มตื่นตัวที่จะให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งของ จ.พังงาจะต้องมีการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ หรือแม้กระทั่ง อ่าวพังงา
นายเฉลิมชาติ เจนเจนประเสริฐ ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวอีโค้เขาหลักแอดเวนเจอร์เขาหลัก เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันถึงวันละ 5,000 คนนั้น ตนเองคิดว่า นักท่องเที่ยวที่พักใน จ.พังงาประมาณ 30% ที่เดินทางไปยังเกาะต่างๆ โดยคำนวณแบบคร่าว ๆ ได้จากห้องพักที่มีอยู่ใน จ.พังงา เพียงแค่ 11,000 ห้อง หรือมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพัก ประมาณ 24,000 คน/วัน ในช่วงฤดูท่องเที่ยว จะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพักมากถึง 80% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด และเป็นช่วงเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เปิดรับนักท่องเที่ยว และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติเองมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนอนบริเวณชายหาด โดยส่วนใหญ่จะซื้อทัวร์ไปยังเกาะต่างๆ และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะกลับไปเที่ยวซ้ำอีก ซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักใน จ.พังงา ไม่น่าจะเกิน 1,500 คน/วัน ส่วนอีก 3,500 คน เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง
นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เผย กรมอุทยานฯ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมความงามได้ตั้งแต่ 16 ตุลาคม – 15 พฤษภาคม ของทุกปี รวมระยะเวลา 6 เดือน และปิดพักฟื้นอีก 6 เดือน หลังจากที่ตนเองเข้ามารับตำแห่งพบว่า มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันนั้นมีประมาณ 4,000 คน/วัน โดยมีนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งเพื่อรับประทานอาหารมากสุดในช่วงเวลา 11.00 น. – 14.00 น. ด้วยปริมาณ 2,000 คน/วัน ส่วนช่วงเวลาอื่น ๆ นั้นแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ส่วนสาเหตุของตัวเลขก่อนหน้าที่ดูเหมือนนักท่องเที่ยวมีปริมาณไม่มากเกิดจากระบบการจัดเก็บของกรมอุทยานฯในอดีตไม่สะท้อนถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่แท้จริง
“เมื่อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บรายได้ทำให้กรมอุทยานฯสามารถจัดรายได้ใกล้เคียงความเป็นจริงเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าในช่วงเดือน 15 ตุลาคม – 16 มกราคม ของปีงบประมาณ 2559 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 70,014,975 บาท และเพิ่มขึ้นเป็น 109,464,220 บาท ในปีงบประมาณ 2560 ส่วนปีงมประมาณ 2561 อุทยานสามารถจัดเก็บได้แล้วจำนวน 166,000,780 บาท ซึ่งมากกว่าปีกงบประมาณก่อนหน้า ซึ่งทำให้กรมอุทยานฯ ได้อนุมัติงบประมาณในการติดตั้งทุ่นสำหรับผูกเรือ และเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ให้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนห้องน้ำสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวนั้น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันได้รับประมาณในการก่อสร้างเพิ่มเติมจำนวน 10 ห้อง ซึ่งอยู่ในระหว่าการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนการลดปริมาณนักท่องเที่ยวนั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก”นายรวมศิลป์ กล่าว