ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 17 มกราคม ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างรายวันขั้นต่ำประจำปี 2561 โดยมีนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง เป็นประธาน และมีกรรมการเข้าประชขุมครบองค์ ทั้งนี้การประชุมนัดดังกล่าวเป็นผลมาที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง เมื่อวันที่ 10 มกราคม ไม่ได้ข้อยุติในการพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 เนื่องจากเสียงจากกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ยังเห็นต่าง
ทั้งนี่้ ก่อนการประชุม นายจรินทร์ได้กล่าวกับกรรมการว่า ก่อนประชุมขอให้นักข่าวช่างภาพได้ถ่ายภาพก่อนพิจารณากัน ซึ่งควรจะต้องให้แล้วเสร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน โดยผู้แทนรัฐบาลประกอบด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ที่ปรึกษาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ประกอบด้วย นายสมพงศ์ นครศรี ประธานสมาคมนายจ้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ ประธานสมาคมนายจ้างพิทักษ์ทรัพย์ผู้ประกอบการค้าไทย นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานสภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการค้าขนมไทย และนายสุเทพ ศรีเพียร ประธานสมาคมนายจ้างผู้ออกแบบและตกแต่งเฟอร์นิเจอร์
และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ประกอบด้วย นายชยรบ ใหญ่สูงเนิน ประธานสหภาพแรงงานพี่เลี้ยงเด็ก นายประจวบ พิกุล ประธานสหภาพแรงงานฟอกย้อมนำบุญ นายสมบัติ น้อยหว้า ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย นายมานะ จุลรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานกลุ่มเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย และนายสุรเดช ชูมณี ประธานสหภาพแรงงานระดับผู้บังคับบัญชาขนส่งทรัพย์สิน
ต่อมา เมื่อเวลา 21.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 เพื่อสรุปตัวเลขอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำทั่วประเทศ ประจำปี 2561 ซึ่งประชุมนานกว่า 5 ชั่วโมง ยังไม่มีท่าจะได้ข้อยุติ ปรากฎว่านายสมพงศ์ นครศรี กรรมการค่าจ้างสัดส่วนนายจ้าง ซึ่งอายุมากถึง 80 ปี ซ้ำยังมีโรคประจำตัว ไม่สามารถทนการประชุมมาราธอนได้ ต้องขออนุญาตที่ประชุมกลับก่อน โดยมีเลขานุการส่วนตัวประคองปีกตลอดระยะทางเดินออกจากห้องประชุม ทำให้กรรมการฝ่ายนายจ้างเหลือเพียง 4 คน จาก 5 คน ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและรัฐยังอยู่ครบฝ่ายละ 5 คน
ส่วนนายอาทิตย์ อิสโม กรรมการฯ ฝ่ายรัฐ ก็ส่ายหน้าพร้อมระบุว่า ยังอีกนาน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าทุกครั้งที่คณะกรรมการคนใดขอออกจากห้องประชุม เดินไปเข้าห้องน้ำ จะมีเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานตามประกบตลอดเวลา เนื่องจากกลัวว่ากรรมการบางคนจะมีการล็อบบี้กัน รวมถึงป้องกันไม่ให้นำข้อมูลที่ยังไม่ได้ข้อยุติออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 22.45 น.นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ให้สัมภาษณ์ถึงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากใช้เวลาในการหารือกันนานกว่า 7 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 16.00 น.ว่า ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่ 5-22 บาท แบ่งเป็น 7 อัตรา คือ อัตรา 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด คือสิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัดคือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คืออุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และอัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ค่าเฉลี่ยการปรับค่าจ้างปี 2561 อยู่ที่ 315.97 บาท ทั้งในวันที่ 18 ม.ค.จะสรุปเสนอรมว.เพื่อลงนาม และคาดว่าจะเข้าครม.อาทิตย์ ที่ประชุมขอให้ค่าจ้างอัตราใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย 2561
นายจรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถใช้ค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และในส่วนของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป ให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน ว่าแต่ละปีจะมีการปรับขึ้นท่าไหร่ เป็นการรับประกันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปี ส่วนกระทรวงก็จะต้องไปแก้กฎหมายรองรับต่อไป นอกจากนี้ยังนำร่องผู้ประกอบการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ คือชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นำร่องค่าจ้างลอยตัว