ลดภาษี SME แลกขึ้นค่าแรง 3-5% ทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.61

รมว.แรงงาน “อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ลั่น ถกค่าแรงขั้นต่ำ 17 ม.ค.ต้องจบ แย้มปรับขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากันทั่วประเทศ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 61 คลังรับลูกสั่งสรรพากรออกมาตรการช่วยนายจ้างที่ได้รับผลกระทบ โฟกัสกลุ่มเอสเอ็มอี ให้นำค่าแรงที่จ่ายเพิ่มหักลดหย่อนภาษีเงินได้ วงในชี้ลูกจ้างได้เฮ ! ค่าแรงขึ้น 3-5% จากฐานเดิม เผย กทม.-นครปฐม-เมืองนนท์-ปทุมฯ-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร-ภูเก็ต ยังครองแชมป์

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) เมื่อ 10 ม.ค. 2561 ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ และนัดหารืออีกครั้งวันที่ 17 ม.ค.นี้ โดยหลักการถือว่ามีความลงตัวแล้ว ขอยืนยันว่าที่ประชุมบอร์ดไตรภาคีครั้งหน้า 17 ม.ค.ได้ข้อยุติแน่นอน จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ถัดไปวันที่ 23 ม.ค. 2561 ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

ปรับขึ้น % อัตราเดียวทั่ว ปท.

ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ตนได้ให้นโยบายบอร์ดไตรภาคีว่า ให้พิจารณาโดยยึดหลักความเป็นธรรม ให้ลูกจ้างมีรายได้สำหรับการครองชีพเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอยู่ได้ เกณฑ์การพิจารณาค่าแรง จะมาจากกรอบของแต่ละจังหวัด ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอ โดยพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราการเติบโต ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวทางเศรษฐกิจด้วย รวมทั้งจะ ทำตามกรอบนโยบายของรัฐบาล คือลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และนายจ้างสามารถประกอบธุรกิจได้ ขยายกิจการได้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยยึดฐานอัตราค่าแรงเดิมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ปรับอัตราค่าจ้างเป็นอัตราเดียวเท่ากันทั้งประเทศ

ยึดกรอบเดิม 4 กลุ่มหลัก

พล.ต.อ. อดุลย์กล่าวว่า สำหรับในรายละเอียดแต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นค่าจ้างเท่าใดนั้น แม้จะมีตัวเลขอยู่ในใจแต่เปิดเผยไม่ได้ เพราะบอร์ดไตรภาคีจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ ตนแค่ให้นโยบายไปกว้าง ๆ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม จะยังยึดกรอบเดิมที่แบ่งระดับอัตราค่าจ้างแต่ละพื้นที่เป็น 4 กลุ่ม หรือ 4 โซน โดยดูจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม อาทิ กลุ่มจังหวัดที่ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร (กทม.) และพื้นที่ปริมณฑล ทั้งนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร กับภูเก็ต เป็นต้น

กลุ่มอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างจังหวัดก็เช่นเดียวกันจะยึดหลักการเดิม แต่อาจมียกเว้นบางจังหวัด บางพื้นที่บ้าง ที่อาจมีการเกลี่ยหรือปรับใหม่ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ราคาสินค้า ค่าครองชีพ

ย้ำต้องปรับเห็นน้ำเห็นเนื้อ

ในส่วนของตัวเลขค่าแรงที่จะปรับขึ้นให้แต่ละพื้นที่นั้น ในหลักการจะมีการปรับเล็กปรับน้อยเหมือนปลาซิวปลาสร้อยไม่ได้ ต้องขยับแบบให้เห็นน้ำเห็นเนื้อ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีแรงงานบางส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาระค่าครอง ชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากค่าจ้างแรงงานไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็นระยะเวลา 3-4 ปีแล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ เพราะรัฐบาลเองก็ต้องการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และถือว่าประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานรากมีรายได้สำหรับนำ ไปจับจ่ายใช้สอยได้เพิ่มขึ้น

“ถ้าถามว่า ผมอยากให้ปรับขึ้นกี่บาท ก็ต้องการที่จะให้เห็นน้ำเห็นเนื้อ ไม่ใช่ปรับกระปอดกระแปด หรือปลาซิวปลาสร้อยไม่ได้ ขึ้นก็คือขึ้น และทุกฝ่ายภาครัฐก็เป็นแบ็กอัพดูแลอยู่”

ลูกจ้างเฮ ย้อนหลังถึง 1 ม.ค. 61

ขณะเดียวกันเพื่อความเป็นธรรมและถือเป็นสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ หลังบอร์ดไตรภาคีพิจารณาปรับขึ้นค่าแรง วันที่ 17 ม.ค.เสร็จเรียบร้อย จะให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ที่จะประกาศใช้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ม.ค. 2561 ด้วย เนื่องจากครั้งนี้การพิจารณาขึ้นค่าแรงมีความล่าช้า จากปกติบอร์ดไตรภาคีจะหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อนถึงช่วงปลายปีก่อน จากนั้นจะประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปีถัดไป

ครั้งนี้แม้การพิจารณาจะล่าช้าไปบ้าง แต่ต้องยึดถือแนวทางปฏิบัติเดิม โดยให้มีผลย้อนหลัง เพราะถือเป็นสิทธิของลูกจ้าง ซึ่งตนมอบนโยบายชัดเจนว่าต้องพิจารณาให้จบ ผลออกมาต้องดี

“ผมย้ำว่า ต้องจบ ต้องดี คือเรามองด้วยความเป็นธรรม เราเห็นใจว่าผู้ประกอบการต้องประกอบการ ต้องมีกำไร แต่แรงงานต้องอยู่ได้ด้วย ตอนนี้ค่าครองชีพเท่าไหร่แล้ว”

ลดภาษีเงินได้ช่วยเอสเอ็มอี

รมว.แรงงาน กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการปรับขึ้นค่าแรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขล่วงหน้าแล้ว หลัก ๆ จะมี 2 ส่วน คือ ในส่วนของราคาสินค้า ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลอีกส่วนหนึ่งเป็นมาตรการที่จะดูแลผู้ประกอบ การกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการคลังหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาทางด้านภาษี โดยจะมีการบูรณาการออกมาตรการลดหย่อนภาษีรายได้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือกลุ่มเอสเอ็มอี ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนนี้กระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการจากการจ่ายค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการวิจัยของกระทรวงแรงงานชี้ว่า การขึ้นค่าแรงหลายครั้งแม้กระทบผู้ประกอบการ แต่จะเป็นช่วงแรกเท่านั้น หลังผ่านไป 6 เดือนจะปรับตัวได้ สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

ปรับขึ้น 3-5% จากฐานเดิม

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การประชุมบอร์ดไตรภาคี 17 ม.ค. การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ข้อยุติแน่ เพราะมีตัวเลขในใจแล้ว แต่ยังหารือกันไม่ลงตัว จึงต้องกลั่นกรองและดูผลกระทบอีกครั้ง ต้องยอมรับว่า การปรับค่าแรงแต่ละครั้งจะมีคนได้รับผลกระทบ จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือลดผลกระทบ เพราะรัฐบาลช่วยเหลือทุกกลุ่ม สำหรับค่าแรงที่จะปรับขึ้นจะปรับขึ้นเท่าใดนั้น เทียบกับครั้งที่ผ่านมาปรับขึ้นกว่า 3% อาจพูดได้ว่าจะปรับจาก 3-5% ฐานค่าจ้างเดิมแต่บางจังหวัดเศรษฐกิจดีมาก การปรับ 3-5% อาจน้อยไป ส่วนจังหวัดที่เศรษฐกิจไม่ดี ขึ้น 3-5% ผู้ประกอบการก็เดือดร้อน หรือบางจังหวัดเศรษฐกิจไม่โตแต่แรงงานก็ต้องกินต้องใช้ ที่สำคัญแรงงานจะไหลไปพื้นที่ที่ค่าแรงสูงกว่า จึงต้องพิจารณาบางจังหวัด บางพื้นที่ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ฯลฯ

สรรพากรยังแบ่งรับแบ่งสู้

ด้าน นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขณะนี้ยังต้องรอผลการเจรจาระหว่างฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายลูกจ้างให้ได้ข้อสรุป ก่อน ยังไม่สามารถบอกได้ว่า มาตรการภาษีที่จะช่วยบรรเทาภาระให้เอสเอ็มอีจะออกมาอย่างไร เพราะรายละเอียดยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม กรณีมีข้อเสนอให้ลดภาษีเงินได้ให้แก่เอสเอ็มอีที่ปรับขึ้นค่าแรงนั้น มองว่าการลดภาษี หากจะทำก็ต้องเป็นการทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“เราต้องรอดู ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาก็มีมาตรการลดภาษีเงินได้ให้แก่เอสเอ็มอีเป็นการทั่วไป ซึ่งหมดไปแล้ว”

คลังเร่งหาทางช่วยเอสเอ็มอี

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อหารือกันเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลายรอบแล้ว มีการพูดกันถึงการดูแลกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งคลังได้ให้กรมสรรพากรพิจารณาไปหาแนวทางออกมาตรการทางภาษีมารองรับ แต่ยังไม่ไดข้อสรุปว่ารูปแบบมาตรการจะเป็นอย่างไร บอกไม่ได้ว่าจะเหมือนกับเมื่อครั้งที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทหรือไม่ แต่คงมีการปรับปรุงไม่เหมือนเดิม