เรียกซีพี-เบทาโก หารือดึงหมูจากระบบ ดันราคา หวัง 2 เดือนกระเตื้อง

นายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (บิกบอร์ด) ว่า จากราคาหมูที่ลดลง 25% จากราคา 60 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ลดเหลือ 45 บาท/ก.ก. ในรอบ 6 เดือน ไทยบริโภคหมูประมาณวันละ 50,000 ตัว จากราคาที่ลดลงขาดทุนตัวละ 1,500 บาท ส่งผลให้ผู้เลี้ยงขาดทุนวันละ 75 ล้านบาท หรือ ขาดทุน 13,500 ล้านบาท โดยราคาหมูสัปดาห์แรกของเดือนม.ค. 2561 ภาคเหนือราคาเฉลี่ย 54 บาท/ก.ก. ภาคอีสานราคา 45 บาท/ก.ก. ภาคตะวันออกราคา 48 บาท/ก.ก. ภาคตะวันตกราคา 40 บาท/ก.ก. และภาคใต้ราคา 47 บาท/ก.ก. เฉลี่ยตั่วประเทศ 46.80 บาท/ก.ก.

ทั้งนี้ จากราคาสุกรต่ำและผู้เลี้ยงรายย่อยขาดทุน เพราะราคาจำหน่ายต่ำกว่าต้นทุน สมาคมและผู้เลี้ยงต่างๆ ขอเงิน 1,190 ล้านบาท เพื่อทำ 3 กิจกรรม คือ 1. ตัดวงจรหมูเพื่อทำหมูหัน 1 แสนตัวขนาด 8 ก.ก. ชดเชย 40 ล้านบาท 400 บาท/ตัว ระหว่างเดือนก.พ.-พ.ย. 2561 2. ปลดแม่สุกร 10% จำนวน 1 แสนตัว 600 ล้านบาท 6,000 บาท/ตัว และ 3 การนำสุกรเข้าห้องเย็น 1 แสนตัว 5,500 บาท/ตัว 550 ล้านบาท ที่ประชุมให้เกษตรกรไปช่วยเหลือตัวเองก่อน

“ในที่ประชุมนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุม สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เรียกเอกชนรายใหญ่ อาทิ ซีพี เบทาโก เป็นต้น เข้าหารือเพื่อลดปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เพื่อให้ราคาหมู่ปรับตัวดีขึ้น”

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การแก้ไขราคาหมูล้นตลาดเป็นปัญหาสะสมมาจากปี 2560 เนื่องจากภาคเอกชน คาดว่าความต้องการของตลาดผิดพลาด คาดว่าความต้องการนำเข้าของตลาดจีน และกัมพูชา มีจำนวนมาก จึงมีการเลี้ยงในปริมาณที่เพิ่มขึ้นหวังจะส่งออก แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด ผู้เลี้ยงหมูในจีน มีการเลี้ยงเพิ่มขึ้น และคู่แข่งของไทยอย่างเช่น เวียดนามมีการส่งออกมากัมพูชามากขึ้น ส่งผลให้เป้าหมายการส่งออกลดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้ราคาหมูตกต่ำ

“วันศุกร์จะเรียกเอกชนรายใหญ่ ผู้เลี้ยงหมูในประเทศเข้ารือ เพื่อลดการผสมแม่พันธุ์ 20% ของจำนวนหมูในฟาร์ม ลดจำนวน 20,000 แม่ใน 6 เดือน และลดไปเรื่อยถึง 2 แสนตัว ส่วนกิจกรรมการนำเนื้อหมูเข้าห้องเย็น เพื่อเป้าหมายการตัดวงจรหมูขุน 1 แสนตัว จะใช้เงิน 100 ล้านบาท จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรกู้เพื่อชำแระหมูเข้าห้องเย็นเก็บ ส่วนมาตรการลดปริมาณหมูจากระบบหากเอกชนให้ความร่วมมือคาดว่าไม่เกิน 2 เดือนราคาหมูจะดีขึ้น”

นายอภัย กล่าวว่า สำหรับแผนการผลิตหมูปี 2561 คาดจะลดปริมาณการผลิตหมูลง 5% หรือทั้งปีจะมีปริมาณหมู 19.24 ล้านบาท ของปริมาณผลผลิตหมูในปีก่อนที่มีปริมาณหมูรวม 22.106 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 สัดส่วน 9.52% การลดปริมาณผลผลิตหมูในปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาหมูไม่ให้ตกต่ำ