ทอท.กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังสนามบินดอนเมือง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยว่า ตามที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้ ทอท.เตรียมความพร้อมรองรับปัญหาน้ำท่วมขังของท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ในช่วงฤดูฝน ปี 2559 นั้น ทอท.ได้ดำเนินการและวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว อาทิ การกำจัดขยะภายในทางระบายน้ำ ขุดลอกท่อระบายน้ำ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยปกติสนามบินแห่งนี้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ถึง 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการพร่องน้ำในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเกิดมรสุมที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานและมีปริมาณน้ำฝนมาก ทำให้สนามบินดอนเมืองต้องรองรับปริมาณฝนมากกว่า 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง สนามบินดอนเมืองจึงจำเป็นต้องมีการสูบระบายน้ำออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ โดยการสูบระบายน้ำจากสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่โดยรอบทั้งหมด 12 สถานี

ทั้งนี้ จะมีปริมาณความสามารถในการสูบน้ำรวมประมาณ 48,840 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมกับสถานีสูบระบายน้ำของกองทัพอากาศจำนวน 2 สถานี ทำให้สนามบินดอนเมืองมีความสามารถในการสูบระบายน้ำรวมเพิ่มอีกประมาณ 26,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยมี จุดระบายน้ำออก 3 จุด ได้แก่ ด้านทิศเหนือบริเวณครัวการบินไทยระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร ด้านอาคารคลังสินค้าจะระบายน้ำลงคลองข้างถนนวิภาวดีรังสิตซึ่งจะลงสู่คลองหลักสี่ และด้านทิศใต้ระบายน้ำลงสู่คลองบางเขน

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากสถานีระบายน้ำ ทางฝั่งทิศตะวันตก ตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่ดำเนินการโดย รฟท. ผ่านท่อลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อระบายน้ำลงสู่ระบบระบายน้ำของ รฟท. ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้าง 850 เมตร จากความยาวรวมทั้งสิ้น 900 เมตร คาดว่างานก่อสร้าง ท่อระบายน้ำดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559 เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้สนามบินแห่งนี้สามารถระบายน้ำจากฝั่งทิศตะวันตกผ่านพื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดง ลงสู่คลองเปรมประชากรได้อย่างสะดวก ลดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณ ถนนกำแพงเพชร 6 และถนนเชิดวุฒากาศ

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สนามบินดอนเมืองยังได้จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของท่าอากาศยานไว้แล้ว เพื่อรองรับกรณีเกิดอุทกภัยในท่าอากาศยาน รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานราชการ สายการบิน ผู้ประกอบการสามารถป้องกันและร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารและผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ