60 พลัสเบเกอรี่ “ขนมปัง” แสนอร่อย 3 ปีพิสูจน์ฝีมือ “คนพิการ”

ด้วยเชื่อว่า “คนพิการ” หากได้รับความเข้าใจและให้โอกาส ก็สามารถแปรเปลี่ยนจากภาระเป็นพลังได้ จึงเป็นที่มาของร้าน 60 พลัส เบเกอรี่ แอนด์ คาเฟ่ สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บริษัท ไทยยามาซากิ จำกัด และ ศูนย์ฝึกพัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) ซึ่งเปิดดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 3 ณ บริเวณด้านหน้าสถานสงเคราะห์เด็กหญิง บ้านราชวิถี ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ

นายพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการ ศพอ. กล่าวว่า ร้านเบเกอรี่แห่งนี้ถือเป็นสาขาหนึ่งของร้านยามาซากิ มีสินค้าและบริการไม่ต่างจากร้านสาขาทั่วไป แต่แตกต่างตรงที่เปิดโอกาสให้คนเป็นออทิสติก จิตสังคม (ผู้ป่วยจิตเวชที่ผ่านการรักษาแล้ว) รวมถึงผู้พิการทางการได้ยิน และพิการทางด้านร่างกาย ได้มาเรียนรู้ฝึกฝนทั้งงานฝ่ายผลิตและฝ่ายขาย ซึ่งแต่ละปีจะคัดเลือกคนพิการต่างๆ ที่มาสมัครที่ร้านกว่า 100 คน ให้เหลือประมาณ 30 คน นำมาเรียนรู้ฝึกฝนงานด้านต่างๆ ที่ร้าน ในเวลา 100 วัน จากนั้นจะออกไปฝึกงานตามสถานประกอบการอีก เวลา 100 วัน ก่อนจบหลักสูตรรับประกาศนียบัตร ซึ่งปัจจุบันจบออกมาแล้ว 3 รุ่น ส่วนใหญ่ไปทำงานที่ร้านยามาซากิสาขาต่างๆ รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัท แบล็คแคนย่อน โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ฯลฯ

“การดำเนินงานที่ผ่านมา เราพบว่าแม้พวกเขาจะมีร่างกายไม่สมบูรณ์เท่ากับคนทั่วไป แต่พวกเขาก็มีสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยมีคือ ความซื่อสัตย์กับงานและเงิน อย่างกลุ่มออทิสซึ่ม เราพบว่าการที่เขาโฟกัสสิ่งที่ทำมากไป ทำให้เขาทำงานเต็มที่ มีระเบียบวินัย ไม่อู้งาน และไม่โกงเงิน ขณะที่ผู้พิการอีกหลายคนก็ทำงานได้ดีมาก” นายพิรุณ กล่าว

ร้านแห่งนี้พนักงานทุกคนล้วนพิการทั้งหมด ตั้งแต่พนักงานขึ้นรูปเบเกอรี่ อบ ขาย ตลอดจนพนักงานขับรถส่งเบเกอรี่ ซึ่งแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความสมัครใจ และความเหมาะสมตามสภาพความพิการ ถือเป็นส่วนผสมที่ขาดและเกินที่เข้ากันอย่างลงตัว

นายพชร พรมดี ซีเนียร์เทรนเนอร์จากไทยยามาซากิ เล่าพลางกำกับการทำขนมปังทั้งหมดในห้องฝ่ายผลิตว่า การทำงานกับคนทั่วไปอาจง่าย แต่การมาทำงานกับคนพิเศษเหล่านี้ก็ไม่ได้ยาก หากเราเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคนว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ เข้าถึงสภาพจิตใจของเขาว่ากำลังคิดอะไร ด้วยการเอาใจใส่ เพียงเท่านี้พวกเขาก็สามารถทำงานเหมือนกับคนทั่วไปได้

“อย่างในห้องผลิตนี้ มีทั้งออทิสซึ่ม ออทิสติก เป็นใบ้ จิตสังคม แต่ทุกคนก็ทำงานร่วมกันได้ ด้วยการแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน หนึ่งคนหนึ่งหน้าที่ อย่างออทิสติกที่มีความสนใจอย่างเดียว หากสอนให้เขาขึ้นรูปขนมปัง ฝึกให้เขาทำซ้ำจนทำได้ ก็มอบหน้าที่นั้นให้เขาเลย บางคนมีภาวะไฮเปอร์ต้องเดินอยู่ตลอดร่วมด้วย ก็สอนให้เขาคอยดูแลการอบขนมปัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องเดินตลอด แม้ช่วงแรกอาจต้องย้ำคิดย้ำทำ แต่สักพักพอพวกเขาจะทำได้ตามที่สอน หลายคนที่จบไปจากที่นี่ ออกไปมีงานทำตามร้านเบเกอรี่ต่างๆ

“ฉะนั้น โดยรวมแล้วถือว่าคนเหล่านี้มีศักยภาพ หากมีโอกาสเรียนและฝึกฝนอย่างทั่วถึง และมีโอกาสแสดงออกอย่างแท้จริง” นายพชร กล่าว

หนึ่งในผลผลิตของการฝึก ซึ่งกำลังขะมักเขม้นทำงานอยู่หน้าเตาอบ นายกรกช ธารากูลภิรัตน์ อายุ 25 ปี พิการหูหนวกและออทิสซึ่ม หลังศึกษาจบจากคณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก็เข้าฝึกอบรมรุ่นที่ 3 ปัจจุบันเป็นเทรนเนอร์ประจำร้าน ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ และกำลังได้รับการทาบทามไปทำงานในบริษัทขายเบเกอรี่และคาเฟ่รายใหญ่แห่งหนึ่ง เล่าด้วยสีหน้าเปี่ยมสุขว่า

“ผมมีหน้าที่ดูแลการอบเบเกอรี่ งานที่นี่เยอะมาก เหนื่อยมาก แต่ก็สนุก ทำให้ผมเก่งขึ้น มีความมั่นใจในชีวิตมากขึ้น ส่วนรายได้ก็เอาไปให้แม่ ผมรู้สึกภูมิใจมาก” นายกรกช กล่าว

 

ด้วยความพิเศษจึงเป็นแรงผลักดันให้ร้านแห่งนี้ มียอดขายสูงที่สุดในทุกสาขาของยามาซากิ เพราะทุกคนที่ทราบเรื่องก็ต่างพากันอุดหนุน ทั้งภาคประชาชน ภาคราชการ เอกชนต่างๆ อย่างสองสามีภรรยาที่เดินทางมาจาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังจากพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเสร็จ ก็มักจะพากันเดินข้ามฝั่งถนนมาซื้อเบเกอรี่กลับไปเป็นประจำ

นาวาตรี ธนกร ปั้นปัญญา ข้าราชการบำนาญ กองทัพเรือ กล่าวว่า อยากช่วยเหลือน้องๆ ที่พิการ แต่ที่สำคัญเบเกอรี่ที่ซื้อไปก็มีคุณภาพ และมีรสชาติไม่ได้แตกต่างกับร้านยามาซากิสาขาอื่นๆ

ปัจจุบัน ร้าน 60 พลัส เบเกอรี่ ขยับขยายไปเปิดบู๊ธขายในองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ขณะที่ ศพอ.เตรียมเพิ่มโครงการฝึกสอนในอาชีพอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสคนพิการสู่การมีอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

กรกช ธารากูลภิรัตน์
นาวาตรี ธนกร ปั้นปัญญา และภรรยา
พชร พรมดี
นายพิรุณ ลายสมิต

 

141SHARES
Facebook

Twitter
Google+
Line