นายก อบจ.สมุทรสงคราม เชียร์ทศกัณฐ์หยอดขนมครก

วันที่ 25 กันยายน 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” เวอร์ชั่นแก้ไข โดยตัดฉาก “ทศกัณฐ์หยอดขนมครก” ออกไป หลังกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) แสดงความเห็นถึงความไม่เหมาะสม มีการเจรจาจนนำไปสู่การตัดต่อใหม่นั้น

นายพิสิฐ เสือสมิง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสงคราม กล่าวว่า การที่นำเอกลักษณ์ไทยมาผสมผสานกับยุคสมัยใหม่ นั้นเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับความเป็นจริงกับสิ่งใหม่กับสิ่งเก่ามาประยุกต์เข้ากันให้ได้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะที่นำเอาเอกลักษณ์ของคนไทยในเรื่องของรามเกียรติ์ไปเผยแพร่ให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งมีฉากทศกัณฐ์หยอดขนมครก ซึ่งขนมครกเป็นประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ของวัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ซึ่ง อบจ.สมุทรสงครามร่วมกับ อบต.บางพรมและวัดแก่นจันทร์เจริญ จัดขึ้นทุกวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีไทยสมัยพุทธกาลที่สืบทอดมาเกือบ 100 ปีซึ่งเหลือเพียงแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยปีนี้เพิ่งจัดไปในวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา

201609251452083-20150302111756-768x432

นายพิสิฐกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการนำเอาเอกลักษณ์ไทยทั้ง 2 แบบมารวมประยุกต์แบบสมัยใหม่เพื่อการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ถือว่าเป็นการก้าวทันโลกทันเหตุการณ์ ทันกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ ขณะที่ตนมองว่าไม่ได้เอาเอกลักษณ์ไทยมาทำลายเพียงแค่เสริมสร้างให้เป็นสมัยใหม่ขึ้นมา แต่ก็คงไว้ซึ่งการแต่งกายที่เหมาะสมสมบูรณ์ตามแบบดั่งเดิม จึงถือว่าเป็นความสร้างสรรค์ ส่วนความเป็นเอกลักษณ์ไทยนั้นเราต้องย้อนกลับไปดูว่าทำไปแล้วเสียหายไหม เช่น การแต่งตัวทศกัณฐ์ถูกต้องตามแบบดั่งเดิมหรือไม่ หากไม่เรียบร้อยไม่เหมาะสมก็ควรจะปรับแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้น ตนจึงอยากให้เอาภาพทศกัณฐ์หยอดขนมครกเอากลับมาใส่ในมิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” เช่นเดิม เพื่อสื่อถึงประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทรายที่มีอยู่แห่งเดียวในเมืองไทย ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลก

201609251452084-20150302111756

สำหรับผู้ที่ริเริ่มประเพณีทำบุญตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ คือพระครูสมุทรสุตกิจ หรือหลวงปู่โห้ เจ้าอาวาสรูปแรก โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเพณีดังกล่าวสอดคล้องกับเทศน์คำสอนในธรรมบท ภาคที่ 2 ของพระพุทธเจ้า อีกทั้งสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจนการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จึงมีแต่อาหารคาวประเภทปลาและพืชผักที่พอจะหาได้ในพื้นที่ตามอัตภาพโดยไม่ต้องซื้อ ส่วนขนมหวานก็จะนำขนมครกที่ทำง่ายและวัตถุดิบก็มีอยู่ในบ้าน อีกทั้งยังถูกเงินเช่นแป้งข้าวเจ้า มะพร้าว และน้ำตาล นอกจากนี้ ยังมีน้ำตาลทราย เพื่อให้ลูกศิษย์วัดนำไปทำตังเมถวายพระอีกด้วย และเมื่อเจ้าอาวาสรูปแรกมรณภาพ พระครูสมุทรกิจโกวิท หรือหลวงพ่อพัฒน์ เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ก็ได้สืบทอดประเพณีการตักบาตรขนมครกเรื่อยมาจนถึงเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือพระครูวิมลสมุทรกิจ หรือหลวงพ่อขาว ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี โดยจะทำกันเพียงแค่ปีละครั้ง คือในเดือน 10 ขึ้น 8 ค่ำ

ที่มา มติชน