ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ประสบการณ์จากตำนานมีชีวิต
ผู้ประกอบการ ผู้มีวิสัยทัศน์ และนักคิดแถวหน้าของโลก 100 คน แบ่งปันแนวคิดและบทเรียนแห่งความสำเร็จ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ใน “ฟอร์บส์” ฉบับพิเศษเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งนิตยสารด้านธุรกิจ-การเงินชื่อดังของสหรัฐฉบับนี้ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะอำลาวงการ
ในบรรดาคนดังหลากหลายที่ได้ร่วมถ่ายทอดมุมมองชีวิตและธุรกิจซึ่งคนรุ่นหลังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อนำทางชีวิตสู่เป้าหมายนั้น รวมถึงนักธุรกิจไทย 2 รายผู้ได้รับยกย่องในระดับโลกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และเจริญ สิริวัฒนภักดีผู้ประกอบการรายใหญ่ในเอเชียและประธานกรรมการบริหารหลายบริษัท อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด
ธนินท์ ได้กล่าวถึงแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการความเป็นหนุ่มเป็นสาวเสมอ ว่า อุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีอายุขัยแตกต่างกัน และปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่คนรุ่นใหม่ให้นิยามใหม่ของการตลาดว่า “สตาร์ตอัพ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”
“ในโลกใหม่ ทุกสิ่งเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสำเร็จของคนวันนี้ มาจากการเป็นผู้นำนวัตกรรมและการสร้าง การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน พวกเขาได้สร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“ที่สำคัญที่สุด เราต้องยอมรับว่าความสำเร็จที่เรามีในวันนี้อาจจะถูกแทนที่ในวันหน้า และมีคนที่มีความสามารถจำนวนมากที่เราต้องเก็บรักษาไว้ ให้ก้าวไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นเสมอ หากเรามัวแต่อิ่มเอมใจกับสิ่งที่ได้รับมาแล้ว และไม่เปิดใจให้กับการเปลี่ยนแปลง เราจะเสียที่ยืนของเราในไม่ช้า”
ธนินท์ เสนอว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เรายังยืนอยู่ในแถวหน้าได้คือการเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ๆ เมื่อเปรียบเทียบความรู้และกระบวนคิดของคนที่เติบโตมากับยุคอุตสาหกรรม 3.0 ซึ่งคอมพิวเตอร์เป็นของใหม่ กับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังปฏิวัติกระบวนการผลิตไปสู่วิถีที่แตกต่างอย่างมาก เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่จะนำเราไปสู่นวัตกรรมใหม่ และหนทางในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคิด หรือจินตนาการถึงมาก่อนเลย
ขณะที่เจริญ สิริวัฒนภักดี กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการหาจุดสมดุลระหว่างการทำงานเพื่อสร้างธุรกิจและการรักษาสุขภาพ
เจริญ เล่าว่า เมื่อครั้งเป็นเด็ก เขาเคยเห็นพ่อแม่เตรียมร้านเพื่อขายก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจนหลังเที่ยงคืน แต่แม้จะยุ่งกับการทำงานเพียงใด ทั้งพ่อและแม่ก็ยังมีเวลามาอบรมสั่งสอนลูกๆ 11 คนให้ขยัน มีความรับผิดชอบ และกตัญญูต่อผู้ที่ให้ความช่วยเหลือและดูแลครอบครัว
“หากผมย้อนเวลากลับไปได้ ผมอยากจะสร้างสมดุลให้กับชีวิต เพราะเชื่อว่าจะทำได้ดีกว่าที่ผ่านมาด้วยการทุ่มเทเวลาเพื่อการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต
ทางด้านนักธุรกิจต่างชาติผู้มีธุรกิจที่ส่งอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารของคนวันนี้อย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้เชื่อมโยงคนทั้งโลกด้วยเฟซบุ๊กที่เขาร่วมก่อตั้ง กล่าวว่า หลังจากเริ่มก่อตั้งเฟซบุ๊กได้ประมาณ 2 ปี มีบริษัทใหญ่บางรายต้องการเข้าซื้อกิจการและผู้ร่วมก่อตั้งเกือบทุกคนก็ต้องการขาย ซึ่งตรงข้ามกับความคิดของเขา ความคิดต่างระหว่างหุ้นส่วนทำให้บริษัทต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทีมบริหารแยกย้ายกันไปคนละทาง ซึ่งทำให้เขาตระหนักในที่สุดว่า แท้จริงแล้วต้องทำเป้าหมายของเราให้กลายเป็นเป้าหมายของคนอื่นๆ ด้วย
“เป้าหมายของคุณไม่ควรจะเป็นการก่อตั้งบริษัท แต่ควรมุ่งความสนใจว่า อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่คุณต้องการสร้างให้เกิดขึ้น ความหวังของผมไม่ใช่การสร้างบริษัท ผมถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการเชื่อมโยงผู้คนและทำให้เราได้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น” ซักเคอร์เบิร์ก กล่าว
เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์อะเมซอน หรือวอลมาร์ตแห่งศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า เรากำลังอยู่ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ลูกค้ามีอำนาจอย่างไม่น่าเชื่อ อันเป็นผลมาจากค่านิยมเรื่องความโปร่งใสในการทำธุรกิจและอิทธิพลของคำพูดแบบปากต่อปาก
“หากเป็นสมัยก่อน สินค้าด้อยคุณภาพอาจจะมีสถานะที่ดีในตลาดการค้า ซึ่งเป็นผลของการทำการตลาดแบบสุดยอด แต่ทุกวันนี้ลูกค้าสามารถบอกปากต่อปากได้ทันทีว่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ ดีหรือไม่ ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้สินค้าด้อยคุณภาพคุยโวเสียงดังต่อไป ผู้ประกอบการควรเปลี่ยนเป็นการนำเสนอสิ่งที่ดีสำหรับลูกค้า สำหรับบริษัท และดีที่สุดสำหรับสังคม”
ขณะที่ มูฮัมหมัด ยูนูส บิดาแห่งแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือการให้กู้ยืมเงินรายย่อยโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการยากจนและผู้ก่อตั้ง ธนาคารกรามีน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี พ.ศ. 2549 กล่าวว่า ทุนนิยมถูกนิยามว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความละโมบ แต่ในขณะที่มนุษย์มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว พวกเขาก็ยังมีพฤติกรรมที่ไม่เห็นแก่ตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าคิดว่าเหตุใดพฤติกรรมไม่เห็นแก่ตัวดังกล่าวจึงแยกออกจากการตีความข้างต้น
ยูนูส ย้ำว่า เรากำลังจะได้เห็นธุรกิจเพื่อสังคมมากขึ้น โดยกิจการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ มากกว่าที่จะมุ่งเป้าสร้างรายได้ ซึ่งแนวคิดนี้และกิจการลักษณะนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก ในธุรกิจเพื่อสังคมนั้นกำไรจะถูกนำมาหมุนเวียนภายในบริษัทเพื่อแก้ไขปัญหา ผู้ลงทุนจะยอมจ่ายโดยไม่รับสิ่งใดเว้นแต่ความสนุกกับสิ่งที่ได้ลงมือทำ การทำเงินได้เป็นความสุขก็จริง แต่การทำให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นความสุขยิ่งกว่า